“จักรภพ เพ็ญแข” ถึงไทยแล้ว มุ่งหน้ากองปราบฯทันที
“จักรภพ เพ็ญแข” ถึงไทยแล้ว มุ่งหน้ากองปราบฯทันที
วันที่ 28 มี.ค.67 นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางกลับไทยในรอบ 15 ปี หลังลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ นับตั้งแต่การชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยให้เหตุผลว่า พอแล้วที่จะอยู่ในต่างประเทศ และ ขอกลับมาทำงานรับใช้ประเทศไทยบ้าน
โดยนายจักรภพ เดินทางถึงในไทยเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 07.35 น. และ จะเดินทางไปกองบังคับการปราบปราม เพื่อมอบตัวตามหมายจับในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่ รวมทั้งยังถูกกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
ขณะที่ บรรยากาศ ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่ บริเวณ ประตู 9 ฝั่งผู้โดยสารขาเข้า ผู้สื่อข่าวต่างมารอบันทึกภาพกันอยู่ ตามกำหนดการ นายจักรภพจะเดินทางออกที่ประตู 9 ในเวลา 08.00 น. จนกระทั่งในเวลา 08.51 น. ยังไม่พบว่านายจักรภพเดินออกมา พบเพียงญาติ 2 คน ที่เดินทางมารอรับ และเข็นกระเป๋าของนายจักรภพออกมาด้วยโดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่าเจ้าหน้าที่กองปราบได้ควบคุมตัวนายจักรภพไปที่กองปราบพหลโยธินแล้ว ซึ่งจะไปมอบตัวที่นั่นแล้วก็ไปทำเอกสาร เมื่อสักครู่นายจักรภพ ออกมาจากตม.เรียบร้อยแล้วและที่เห็นอยู่นี้ก็คือเป็นกระเป๋าของนายจักรภพ สำหรับตามกำหนดการที่ระบุว่าจะเสร็จขั้นตอนภายในเวลา 08.00 น. นั้น เหตุที่ล่าช้า จะติดในเรื่องของเอกสารหนังสือเดินทางที่หมดอายุ จึงต้องทำเอกสารยืนยันตัวตนใหม่
สำหรับสีหน้าแววตาของนายจักรภพทันทีที่เดินทางถึงประเทศไทยนั้น ทางญาติไม่มีใครได้เห็น แต่ก็ทราบว่าเป็นปกติดี ซึ่งจะต้องไปเจอกันที่กองปราบและไปให้สัมภาษณ์ตรงนู้น เนื่องจากมีสื่อมวลชนรออยู่ที่นั่น ส่วนที่ไม่ได้ออกมาที่ประตู 9 ก็คาดว่าน่าจะไม่ได้มีการประสานงานกันก็เลยช้า
ซึ่งผู้สื่อข่าวก็สอบถามว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์เป็นอะไรกับนายจักรภพ เธอก็บอกว่าให้ไปถามนายจักรภพเอง ส่วนคนที่มาด้วยข้างๆบอกกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นญาติและน้อง ส่วนตัวของนายจักรภพเอง สำหรับการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยแล้วบอกความรู้สึกว่าอยากจะช่วยกลับเข้ามาทำงานให้กับบ้านเมืองเหมือนตามที่ได้บอกไว้ ส่วนเรื่องคดีก็ไม่น่าจะมีอะไรแล้วเพราะมันเป็นการกล่าวหา ที่ไม่ได้เป็นความจริง ส่วนความรู้สึกของญาตินั้นมองว่า 15 ปีก็นานพอแล้วสำหรับคนที่ต้องลี้ภัยไปทางการเมือง
ขอบคุณข่าวจาก topnewsonline
topnews.co.th