ป.ป.ช.แจงยิบยื่น แก้พ.ร.บ.ป.ป.ช. กระทบการทำงานอัยการ ศาล ทำมีงานเพิ่ม 15,000คดี เผย วิปรัฐบาลรับฟังนำกลับไปทบทวนให้กฎหมายมีความรอบคอบ

17 ก.พ.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กล่าวถึง พรรคเพื่อไทยขอถอนร่างเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ออกจากการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่16ก.พ.ว่า ป.ป.ช.ไปชี้แจงเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)ทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี2540 กำหนดให้ป.ป.ช.มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งอัยการสูงสุด เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาผิดนักการเมืองทุจริต แสดงให้เห็นเจตนารมณ์เบื้องต้นป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายหรือประชาชนฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง เพื่อป้องกัน หากมีการฟ้องได้โดยตรง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอาจถูกฟ้องอยู่เรื่อยๆ และพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายต้องไปรวบรวมก็เป็นภาระ ดังนั้นจึงให้มีองค์กรรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนหนึ่งก่อนส่งฟ้องศาล

ขณะที่รัฐธรรมนูญปี2550 มีการปรับแก้ให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อกลั่นกรองรวบรวมพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้เสียหายหรือผู้ร้อง ก่อนส่งให้ศาลพิจารณาตัดสิน หลักการต่างๆจึงชี้ให้เห็นรัฐธรรมนูญไม่มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องได้โดยตรง ต้องผ่านกระบวนการก่อน เพราะความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ตำแหน่งหน้าที่ คนที่เสียหายจริงๆคือรัฐ เพราะผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่รัฐ 

นายนิวัติชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลที่มีเนื้อหาให้ผู้เสียหายสามารถพิจารณายื่นฟ้องคดีย้อนหลังได้โดยตรงในคดีที่ป.ป.ช.ลงมติให้ข้อกล่าวหาตกไปหรือไม่รับคำร้องนั้น ขณะนี้มีปริมาณคดีที่ป.ป.ช.พิจารณาให้ตกไป 15,000เรื่อง จะรื้อฟื้นคดีกลับมาหรือไม่ หรือการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้กลั่นกรองคดีอีกชั้น ในคดีที่ป.ป.ช.ไม่รับหรือสั่งให้ตกไปนั้น ต้องดูว่าอัยการจะรับไหวหรือไม่ ใน15,000เรื่องเหล่านี้ ดังนั้นบทเฉพาะกาลนี้อาจมีปัญหาต่อการทำงานของอัยการในการฟ้องคดี เป็นข้อห่วงใยที่ป.ป.ช.ชี้แจงให้วิปรัฐบาลรับฟัง จึงเอากลับไปทบทวนให้กฎหมายมีความรอบคอบ

ทั้งนี้การรื้อฟื้นคดีย้อนหลัง แม้จะสามารถทำได้ เพราะไม่ใช่ย้อนหลังในทางเป็นโทษ แต่อาจทำให้คดีไม่มีที่สิ้นสุด เพราะผู้ถูกกล่าวหาแม้จะถูกสอบสวนจบไปแล้ว แต่กลับถูกรื้อฟื้นคดีขึ้นมาอีกในเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อนไม่จบสิ้น ถ้าจะไปยื่นฟ้องต่อศาลเอง ก็ต้องไปหาหลักฐานเพิ่มเติมเอง เรื่องนี้ไม่กระทบต่อป.ป.ช. แต่จะไปสร้างภาระให้อัยการ ศาล ที่ต้องมาพิจารณาคดีย้อนหลังเหล่านี้ อาจจะไปเพิ่มบุคลากรให้อัยการ ศาลหรือไม่ เพราะมีปริมาณคดีมากขึ้น เป็นการเพิ่มภาระอัยการ ศาล

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com