- สกัดไฟ ‘ส.ป.ก.’ลามรัฐบาล
- นายกฯ สั่ง ‘เกษตรฯ-ทรัพยากรฯ’ ตั้ง กก.ร่วม
- ยกเลิกพื้นที่ปัญหาทั้งหมด มอบกรมแผนที่ทหารสำรวจ
นโยบายเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนด ได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่ได้สิทธิถือครอง ส.ป.ก.4-01 ที่มีอยู่จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่
โดยกำหนดวิธีการให้เกษตรกรที่ถือเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นต่อเนื่องมา 10 ปีขึ้นไป จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยได้รับสิทธิ์ตามเอกสารสิทธิ์ที่ตนถืออยู่ แต่ยังไม่สามารถซื้อขายได้ ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับโฉนด
หากในกรณีที่มีความจำเป็นต้องการกู้ยืม ด้วยการจำนอง หรือจำเป็นต้องขายที่ดิน ที่ได้รับโฉนดนั้นก่อนเวลา 5 ปี ให้ดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน (ที่จะจัดตั้งขึ้น) โดยธนาคารที่ดิน จะคิดราคาที่ดินตามราคาประเมินของที่ดินที่มีโฉนด
ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. (หรือเป็นผู้ซื้อ/เปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก.นั้น) เกษตรกรจะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน หากเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง 10 ปีขึ้นไป และมีเอกสาร หรือพยานการทำข้อตกลง การยินยอมจากผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. รวมถึงเกษตรกรผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท เกษตรกรดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่
ทว่า นโยบายดังกล่าวกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก สังคมเกิดความกังขาว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้ “นายทุน-กลุ่มทุน” หรือเปิดช่องให้มีการฮุบพื้นที่ป่าหรือไม่
จุดเสี่ยงกรณีเล่นแร่แปรธาตุที่ดิน ส.ป.ก.ไปโผล่แนวเขตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งที่บุคคลที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ ไม่ได้เป็นเกษตรกรในพื้นที่จริง บางคนอยู่ในจังหวัดภาคกลางยังได้รับเอกสารสิทธิ์ จนถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ศึกนี้สะเทือนถึงเจ้ากระทรวงระหว่าง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่พรรคพลังประชารัฐด้วยกัน
ว่ากันว่า ทั้งสองฝ่ายเคยวัดกำลังกันอย่างเงียบ ๆ เป็นเหมือน “คลื่นใต้น้ำ” ภายใน พปชร. จน “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องยอมกลับเข้าสู่สมรภูมิการเมือง ประกาศยืนหยัดเป็นเสาค้ำยันให้พรรคยังเดินหน้าต่อไปได้
แต่ประเด็น ส.ป.ก.ครั้งนี้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ กระเทือนถึงกระบวนการทางยุติธรรม และเกี่ยวพันกับทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของไทย ผ่าน “สงครามตัวแทน” แม้แต่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 จำเป็นต้องออกโรงเอง เพื่อยุติเงื่อนปมร้อนนี้โดยด่วน
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา “เศรษฐา” เรียก “ธรรมนัส” พร้อมด้วย วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯ ส.ป.ก. “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัด ทส. อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ และ พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร มาพร้อมหน้า เพื่อเคลียร์ปมข้อพิพาทในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เบื้องต้นสั่งเลขาฯ ส.ป.ก.ยกเลิกพื้นที่ที่มีปัญหาทั้งหมด ให้กรมแผนที่ทหารทำการสำรวจ พร้อมตั้งกรรมการ 2 กระทรวงทำงานร่วมกัน
สำหรับจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซุ่มชี้มูลความผิด “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” กับพวก กรณีดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน (ห้วยคมกฤต) ในพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจาน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมส่งเรื่องไปยัง ทส.ให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย
ทำให้ “ชัยวัฒน์” ในฐานะผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ สังกัด “ทส.” ออกมาแฉว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบุกรุกเข้าไปปักหมุดแนวเขตที่ดิน ส.ป.ก.บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งหน่วยงาน ส.ป.ก.อยู่ภายใต้สังกัด “กษ.” ทำเอา “ธรรมนัส” ฉุนกึกต้องสวนกลับไปถึง “ชัยวัฒน์” ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปลัดกระทรวงคุยกัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ยิ่งเป็นกระทรวงที่รัฐมนตรีว่าการสังกัดพรรคเดียวกัน ยิ่งต้องคุยกัน ไม่ใช่ทะเลาะกันผ่านโซเชียลมีเดีย โดยพร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ หากใครผิดว่าไปตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัด ทส. ออกมาปกป้องการทำหน้าที่ของ “ชัยวัฒน์” ยืนยันว่ามีสิทธิ์ดำเนินการเรื่องนี้ หากมีที่ดิน ส.ป.ก.เข้าไปรุกล้ำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ด้าน “บิ๊กป๊อด” พัชรวาท ในฐานะเจ้ากระทรวง และผู้บังคับบัญชาของทั้ง “จตุพร-ชัยวัฒน์” ออกตัวว่า เรื่องนี้จะยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก แต่ปฏิเสธเงื่อนปมความขัดแย้งภายใน พปชร. พร้อมยืนยันไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง
หลังจากนั้นไม่นาน “ธนดล สุวัณณะฤทธิ์” ที่ปรึกษากฎหมาย รมว.เกษตรฯ ออกมาระบุว่า เมื่อ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เลขาฯ ส.ป.ก. ลงนามคำสั่งด่วนที่สุด ให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา 6 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทันที ให้มารายงานตัวที่ส่วนกลาง เพื่อให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างโปร่งใส ยืนยันเรื่องนี้เอาจริง ไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน
ต่อมา “ชัยวัฒน์” เปิดใจผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ในประเด็นที่โดน ป.ป.ช.ชี้มูล โดยยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง และตัดพ้อว่า ตั้งแต่ทำงานมาถูกร้องเรียนสารพัดเรื่อง เป็นนัยถึงการ “เคลียร์ตัวเอง” ให้พ้นจากประเด็นถูกกล่าวหาว่า เพราะโดนเล่นงานก่อนจึงออกมาเอาคืน และไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง
หลังเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ มีความพยายามโยงให้เป็นเรื่องการเมือง ความขัดแย้งกันระหว่าง “ธรรมนัส” กับ “บิ๊กป๊อด”
อย่างไรก็ดี “ธรรมนัส” ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร โทรมาหาเพื่อสอบถาม พร้อมกับให้ 2 กระทรวงหารือถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ ส่วนกับ “บิ๊กป๊อด” นั้นเขายืนยันว่า ไม่มีข้อพิพาทใด ๆ
“ผมกับพี่ป๊อด นับถือเหมือนพี่น้อง และเป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือมาก และผมมีสัมมาคารวะ ส่วนจะแจ้งความนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีไปถอดหมุดหรือไม่นั้น ต้องรอกรมแผนที่ทหารชี้ขาดว่า ที่ดินตรงนั้นเป็นของหน่วยงานใด หากเป็นพื้นที่ของกรมอุทยาน เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.โดนแน่” ร.อ.ธรรมนัส ยืนยัน
หลังจากเกิดข้อครหาว่าเกิด “คลื่นใต้น้ำ” ภายใน พปชร.ขึ้น จึงเห็นภาพนายกฯ “เศรษฐา” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เรียก “ธรรมนัส” และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าพบ เพื่อเคลียร์ใจเรื่องนี้
โดย “ธรรมนัส” ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือตอนหนึ่ง ยืนยันว่า “ผมไม่อยากให้เข้าใจว่าเป็นประเด็นการเมือง มันไม่ใช่ แต่เป็นความผิดพลาดในการทำงาน ที่ไม่คุยกัน เพราะถ้าคุยกันจะไม่เป็นปัญหา ฉะนั้นต่อไปนี้ จะให้ปลัดทั้งสองกระทรวงต้องคุยกัน อธิบดีกรมอุทยานฯและเลขาธิการ ส.ป.ก.ต้องคุยกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ปัญหาที่มีขึ้นมาต้องแก้ร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็มีกรรมการกลาง ก็คือกรมแผนที่ทหาร ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้”
ล่าสุดเมื่อ 22 ก.พ. “เศรษฐา” ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้อีกครั้งว่า มีการคุยไปแล้ว มีการแถลงข่าวไปแล้ว ก็เป็นไปตามที่พูดไว้ เพราะเมื่อวานก็มีการพูดคุยกันดีอยู่แล้ว
ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ “เศรษฐา” ต้องออกโรงสยบเคลียร์ปัญหา “เกาเหลา” ระหว่างกระทรวงด้วยตัวเอง เพราะกังวลว่าจะถูกขยายผลความขัดแย้งให้บานปลาย ไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ในช่วงเวลาที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เพิ่งได้รับการพักโทษ และต้องรอลุ้นคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 10 เม.ย.นี้
ลำพังนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง เพราะต้องรอศึกษาข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่
ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็ยังไปไม่ถึงไหน จนบรรดาฐานเสียง-แฟนคลับ เริ่มหดหายกลายเป็น “ด้อมส้ม” มากขึ้นเรื่อย ๆ
หากปล่อยให้ภาพความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ และจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินยากลำบาก
ดังนั้น ปมแรกที่ถูกจัดการคือ เรื่องข้อพิพาทระหว่าง 2 กระทรวง ส่วนปมหลังและเป็นปมใหญ่ที่ต้องแก้ไขกันต่อไปคือ “ความขัดแย้ง”ระหว่าง 2 “บิ๊กเนม”พปชร. จะถูกเคลียร์เมื่อไหร่ และจะเคลียร์กันได้หรือไม่ ใครจะเป็นกาวใจ ต้องติดตามกันต่อ
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com