อนุสรณ์ ชี้ ศก.มะกันดีแต่หนี้พุ่งกระฉูด ฉุดค่าดอลล์-พันธบัตร ส่วนทอง-บิทคอยน์ทำนิวไฮ หวั่นรบ.กลางชัตดาวน์บางส่วน ทำตลาดการเงิน-ศก.โลกป่วน ชี้ 10 ปีที่ผ่านมาไทยบาทแข็งค่าสุดในอาเซียน ฉุดความสามารถแข่งขัน ต่างชาติหันลงทุนเวียดนาม-อินโด-มาเลย์แทน
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาล่าสุดยังคงแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวดี แต่หนี้สาธารณะพุ่งทะลุ 34 ล้านล้านดอลลาร์อย่างถาวร เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก่อหนี้เพิ่มมากถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2024 อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง ขนาดของหนี้สาธารณะกว่า 34.4 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในทุกๆ 100 วัน สิ่งนี้จะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง นักลงทุนและธนาคารกลางประเทศต่างๆลดการถือครองดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม
ภาวะดังกล่าวทำให้ราคาทองคำและบิทคอยน์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำนิวไฮ โดยราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปรับขึ้นมากว่า 6% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ ราคาบิทคอยน์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ตั้งแต่ต้นปี จากการ approval of spot ETFs และ halving ที่กำลังจะเกิดขึ้น การที่รางวัลจากการขุด Bitcoin ลดลงทุก ๆ 4 ปี หมายความว่า อุปทาน (Supply) ของ Bitcoin ที่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว จะยิ่งจำกัดลงไปอีก ในขณะที่อุปสงค์ (Demand) ใน Bitcoin กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากข่าวที่บริษัทต่าง ๆ พากันเข้าซื้อ Bitcoin ไม่ว่าจะเป็น Tesla, MicroStrategy, Square รวมถึงธนาคารระดับโลกที่เริ่มสนใจ Bitcoin เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sach, หรือ Morgan Stanley เป็นต้น ท่ามกลางสภาวะที่อุปทานของ Bitcoin ลดน้อยลง ขณะที่อุปสงค์กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามทฤษฎีแล้ว ราคาของ Bitcoin จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving แต่ขอให้ นักลงทุน ระมัดระวังการเก็งกำไรเกินขนาด และ ฟองสบู่อาจแตกได้อีกรอบหนึ่ง
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แม้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาสู่ระดับ 124.2% เทียบกับระดับ 122.9% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ อันเป็นผลจากจีดีพีที่ขยายตัวดี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเคยขึ้นไปแตะระดับ 130% ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 หลังการหดตัวของเศรษฐกิจรุนแรงจากการล็อคดาวน์ในปี พ.ศ. 2563 การที่สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวนมหาศาลและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่ความจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษี และ ลดการใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต รวมทั้ง ความวิตก US Government Shutdown และความเสี่ยงในการปิดที่ทำการของรัฐบาลบางส่วนในรอบใหม่อาจป่วนตลาดการเงินโลกได้นอกจากนี้ โอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะใช้แนวทางการส่งออกเงินเฟ้อเพื่อลดมูลค่าการเป็นหนี้อาจเกิดขึ้นได้ สิ่งนี้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการกดดันการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในระยะยาว
ผลของแผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan 1.9 ล้านล้านดอลลาร์และงบประมาณขนาดใหญ่ภายใต้ Build Back Better Campaign Agenda ของรัฐบาลโจ ไบเดน เมื่อบวกเข้ากับงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้สหรัฐอเมริกาแซงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรังเศส และเยอรมันในแง่ของสัดส่วนการใช้จ่ายทางการคลังที่เป็น Fiscal Support เทียบกับจีดีพี ทำให้ตลาดแรงงานเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ เศรษฐกิจขยายตัวสหรัฐอเมริกาขยายตัวดี แต่การทำงบประมาณขาดดุลมหาศาลเพื่อลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายปีทำให้ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน
รศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยผันผวนน้อยลง แต่ศักยภาพของเศรษฐกิจลดลงตามลำดับ ไทยยังมีช่องว่างทางการคลัง สามารถใช้เงินกู้เพื่อการลงทุนยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจให้สูงขึ้นและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างฐานรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ ต่อต้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ส่วนใหญ่พบวา การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบ Countercyclical มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค กล่าวคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบ Countercyclical ในระดับที่สูงส่งผลให้ความผันผวนของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง
การศึกษาของ Ramey ในปี 1995 ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหวางอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับอัตราความผันผวนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า ประเทศที่มีความผันผวนของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว การเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง (Fiscal Space) โดยการปรับปรุงนโยบาย และพัฒนาโครงสร้างภาษีทั้งระบบมีความสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้ฐานะทางการคลังมีความแข็งแกร่ง เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต
รศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เงินบาทโดยเฉลี่ยนั้นแข็งค่าสูงกว่าเพื่อนบ้านในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันราคาสินค้าส่งออกด้อยลง ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้น้อยกว่าเวียดนาม อินโดนีเซียและมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ากว่าทุกสกุลคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประมาณ 15-40% โดยประมาณ การลงทุนโดยตรง (FDI) ที่เข้าจีนน้อยลงและเริ่มไหลออกจากจีน จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและสงครามทางการค้า การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติในจีนปีที่แล้วต่ำสุดในรอบ 30 ปี การลงทุนโดยตรง FDI ในจีนได้ย้ายไป เวียดนาม (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา FDI เพิ่มขึ้น 44%) ไป อินเดีย ไป อินโดนีเซีย มากกว่า มาที่ประเทศไทย (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา FDI ลดลง -20-21%) เป็นโจทย์ที่ไทยต้องช่วยกันหาคำตอบว่าเป็นเพราะปัจจัยอะไร
ขอบคุณข่าวจาก มติชนออนไลน์
matichon.co.th