‘กมธ.วิสามัญ นิรโทษกรรม’ เห็นพ้อง ต้องขจัดความขัดแย้งทางการเมืองให้หมดจากสังคมไทย นัดต่อไปเริ่มหาข้อสรุปจะรวมคดี ‘ม.112- ทุจริต’ หรือไม่ เบื้องต้นเล็งทำสรุปส่งให้สภาฯ พิจารณาเอง ‘ชูศักดิ์’ มองหาก กมธ. จะยกร่างกฎหมายใหม่ ต้องใช้เวลามากกว่า 60 วัน
วันที่ (22 ก.พ.2567) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุมโดยระบุว่า วาระหลักในวันนี้ เป็นการขอฟังความเห็นกรรมาธิการทุกฝ่ายเพื่อแสดงเป้าหมายในการขอนิรโทษกรรม และเพื่อให้แสดงวัตถุประสงค์สำคัญในการนิรโทษกรรมในครั้งนี้คืออะไร ซึ่งได้รับฟังเกือบครบทุกคน ยกเว้นกรรมาธิการบางคนที่ไม่ได้มาวันนี้
ความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุม มีเป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือ ยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความปรองดอง และอยู่ด้วยกันได้อย่างเห็นต่าง หากมีความเห็นต่างก็ขอให้ความเห็นนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต
ส่วนเหตุผลรอง เช่น เพื่อทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความปกติสุข เนื่องจากทุกคนเห็นว่า ผลการขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2549 เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้ประเทศไทยมีปัญหา ไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็มีผลมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งนั้น
อ่านข่าว : จับกระแสการเมือง วันที่ 6 ต.ค.66 : ดัน “นิรโทษกรรม” ถอน หรือ เร่ง ฟืนออกจากกองไฟ
เมื่อถามถึงการขอนิรโทษกรรมความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่า มีผู้เสนอเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มีความเห็นทั้ง 2 ส่วน บางส่วนบอกว่า ยังไม่ควรมี ขณะที่บางส่วนก็เห็นด้วย
รวมถึงบางส่วนเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไขที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า การนิรโทษกรรมควรต้องมีลักษณะทำให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งนั้นยุติลงและไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกจึงควรต้องมีเงื่อนไข ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังแต่ยังไม่ได้ตัดสินจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ระบุว่า การประชุมนัดต่อไป คณะกรรมาธิการฯ จะขอเปิดรับฟังกรรมาธิการที่เหลืออีก 4 – 5 ท่าน ที่ยังไม่ได้มาในวันนี้ และจะจัดทำเป็นข้อสรุปว่า ท้ายที่สุดจะมีความเห็นออกมาอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในหลักว่า การนิรโทษกรรมจะรวมการกระทำอะไรบ้าง
อ่านข่าว : “ภคมน” มองตั้ง “กมธ.วิสามัญฯศึกษา กม.นิรโทษกรรม กลไกช่วยรับฟังความเห็น
ขณะที่แนวโน้มความเห็นจาก กรรมาธิการฯมีความเห็นใน ม.112 อย่างไรนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติเพราะความเห็นยังไม่สามารถจำแนกได้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นในเชิงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือ เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข หรือออกมาในรูปแบบมาตรการที่อาจไม่ใช่การนิรโทษกรรมก็ได้
ส่วนจะรวมคดีทุจริตหรือไม่นั้น ในที่ประชุมยังไม่ถึงขั้นได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ในวันนี้พิจารณาในส่วนของวัตถุประสงค์และเป้าหมายเท่านั้น
ส่วนจากการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะมีการขยายระยะเวลาพิจารณาให้เกินกรอบเวลา 60 วัน หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า อยู่ระหว่างการหารือแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินการในระดับใด
อ่านข่าว : “สุวัจน์” หนุนตั้ง กมธ.ในสภา ถกแนวทาง “นิรโทษกรรม”
ขณะนี้มีความเห็นที่เป็นข้อยุติแบบพอสมควรแล้วเช่นกัน เช่น หน้าที่ของคณะกรรมาธิการจะเสนอหลักการเท่านั้น รวมถึงบางท่านก็เสนอว่าให้เป็นทางเลือกหลายแบบ โดยให้สภาฯเป็นผู้ตัดสินใจขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจในครั้งหน้า
ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ยอมรับว่า การประชุมยังไม่ถึงขั้นให้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใหม่ ส่วนจะมีโอกาสที่จะทำเป็นร่างกฎหมายควบคู่กันไปหรือไม่นั้น มองว่า หากจดำเนินการยกร่างกฎหมายไปด้วย คาดว่าจะไม่ทันกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมาธิการ 60 วัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายละเอียด บางครั้งเพียงมาตราเดียวก็ใช้เวลาถึง 2 วัน
“ชัยธวัช” มองภาพรวมเน้นสมานฉันท์
ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน และ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะแตกต่างจากการศึกษาการสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ทุกชุดที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ต่างกัน โดยเฉพาะความขัดแย้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดเผยถึงสาระสำคัญข้อเสนอให้กรรมาธิการการพิจารณา
ผมเองได้เสนอว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะต้องไม่ใช่การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว ต้องมองในภาพรวมการสร้างความสมานฉันท์การสร้างความปรองดองทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้นิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นหนึ่งในนั้น
ดังนั้นเป้าหมายควรจะเป็นการนิรโทษกรรมเพื่อหยุดขยายความขัดแย้งเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต และเปิดทางเพื่อให้สามารถหาข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้ทางการเมืองในอนาคต
อ่านข่าว : สภาฯ เลื่อนญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา กม.นิรโทษกรรม ขึ้นพิจารณา 1 ก.พ.
นายชัยธวัช กล่าวย้ำว่า การสร้างความสมานฉันท์ไม่ใช่แค่เพียงการตรากฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น ส่วนกระบวนการที่จะทำให้ข้อขัดแย้งต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจลดการเผชิญหน้าลดความหวาดระแวงลงและสร้างข้อตกลงร่วมกันร่วมกัน ซึ่งกระบวนการนี้มีความสำคัญและอาจกลายเป็นกระบวนการที่เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำให้เกิดขึ้นก่อนจะเสนอให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งเนื้อหาจะไม่ได้จำกัดว่า จะนิรโทษกรรมให้กับบุคคลใดบ้างหรือครอบคลุมเพียงใดหรือนิรโทษกรรมอะไร แต่ต้องมีกระบวนการให้เกิดการยอมรับก่อนที่จะเริ่มนิรโทษกรรม
ทุกเรื่องจะต้องทำให้เกิดกระบวนการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับ คดี ม.112 ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญที่วันนี้ได้เสนอในที่ประชุม ซึ่งยอมรับว่า ประเด็นนี้เป็นรายละเอียดที่ยังคงมีความเห็นต่างกัน แม้จะเห็นร่วมกันในหลักการใหญ่ ซึ่งบางคนเห็นว่า อาจรวมการนิรโทษ ม.112 ด้วย อาจกลายเป็นเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะนิรโทษกรรมใครได้เลย หรือหากไม่รวมการนิรโทษในคดี ม.112 อาจจะไม่ตอบโจทย์การที่จะระงับการขยายตัวของความขัดแย้งในปัจจุบัน
อ่านข่าว : สภาฯ เห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา กม.นิรโทษกรรม
ทั้งนี้แนวโน้มอาจจะมีหลายตัวเลือก แนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการนิรโทษกรรมแล้วนำไปเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย หรือการนิรโทษกรรมในบางเรื่องบางคดีที่มีความเห็นแตกต่างกันจำนวนมากอาจจะมีการวางเงื่อนไขว่า จะต้องมีกระบวนการอย่างไรบ้างเพื่อสร้างการยอมรับและนำไปสู่ข้อตกลงร่วมบางอย่างจากนั้นถึงจะสามารถเสนอเรื่องนี้ ให้ไปสู่การนิรโทษกรรมได้
นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีที่มีภาพ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” นักกิจกรรมถูกนำตัวส่ง รพ.ธรรมศาสตร์ หลังอดอาหารนาน กว่า 9 วัน และยังมีนักเคลื่อนไหวหลายคนใช้วิธีการนี้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมว่า ขณะนี้พรรคไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรได้ และไม่ได้มีการส่งบุคคลใดไปติดตามกรณีดังกล่าว
อ่านข่าว : “ก้าวไกล” ยันนิรโทษกรรม ต้องรวม ม. 112 ด้วย
ขณะนี้ให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่ แต่เราก็มีความเป็นห่วงเพราะเรื่องนี้เป็นรูปธรรมที่สะท้อน เรื่องของการนิรโทษกรรม หากคิดจะนิรโทษกรรมแล้วเว้นฐานความผิดบางอย่างไว้แล้ว อาจจะไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะสถานการณ์การเมืองปัจจุบันไม่อาจละเว้นคดีการเมืองบางอย่างได้
แต่ตนก็เข้าใจความเห็นที่แตกต่างกันว่า หากนิรโทษกรรมคนกลุ่มนี้ไปแล้วอาจจะนำไปสู่สภาวะแบบเดิมอีกหรือไม่ ตนเข้าใจความกังวลนี้ ตนจึงเสนอให้ใช้คณะกรรมาธิการชุดนี้ ศึกษาสร้างกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้ หรือสร้างข้อตกลงร่วมที่จะนำไปสู่สังคมในอนาคตให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการนิรโทษกรรม
ขอบคุณข่าวจาก thaipbs
thaipbs.or.th