จังหวะคัมแบ็กในรอบ 17 ปี ของ “ทักษิณ” ย้อนรอยพรรคเพื่อไทยภายใต้ “แบรนด์ชินวัตร” กับสารพัดคำร้องยื่น”ยุบพรรค”
จังหวะคัมแบ็กพรรคเพื่อไทยในรอบ 17 ปี ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เมื่อช่วงบ่าย 26 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ฟากฝั่ง “บิ๊กเนมเพื่อไทย” โดยเฉพาะ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค จะพยายามอธิบายว่า บทบาททักษิณ ได้ก้าวข้ามความเป็นสมาชิกพรรคไปแล้ว การเยือนพรรคเพืื่อไทยเป็นเพียงการกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเก่า รวมถึงให้คำปรึกษาในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ไม่มีผลสั่นคลอนเก้าอี้ “เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า” ทำเนียบรัฐบาล แต่อย่างใด
แต่อย่างที่รู้กัน การปรากฎตัวของอดีตนายกฯ ในฐานะ “คีย์เมกเกอร์” ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยผู้นี้ ชัดเจนว่า เป็นการตอกย้ำ “ศูนย์กลางอำนาจ” ที่ถูกรวมศูนย์แบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้ “แบรนด์ชินวัตร” ที่ไม่ใช่แค่ “ดุลอำนาจพรรคเพื่อไทย” แต่อาจรวมไปถึงดุลอำนาจใน “ขั้วรัฐบาล” ที่ต้องจับตาต่อจากนี้
ทว่าใน “จุดแข็ง” ก็ยังมี “จุดอ่อน” โดยเฉพาะประเด็นที่ “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” จ้องหยิบมาขยายผลอยู่ ณ เวลานี้ นั่นคือประเด็น “ครอบงำพรรค” ซึ่งเป็นการกระทำอันฝ่าฝืน พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 28 และ มาตรา29 ที่อาจลามไปสู่การยื่นยุบพรรค
อันที่จริงประเด็น “เงาทักษิณครอบเพื่อไทย” ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
หากย้อนรอยพรรคเพื่อไทย ถูกไล่ล่าด้วยเกม “ยุบพรรค” มาหลายต่อหลายครั้ง ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือกรณีที่ “นักร้อง” อย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า
การกระทำของพรรคเพื่อไทย ตามคำแถลงการณ์ของ “ชัยเกษม นิติสิริ” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2564 เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีตราพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วย มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการกระทำ ที่อาจนำไปสู่การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะที่ไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ
กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 25 มี.ค. 2567 “ไม่รับคำร้อง” ไว้พิจารณา ด้วยเหตุผล “ชัยเกษม” ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนพรรคเพื่อไทย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องมีความมุ่งหมายหรือการกระทำใด ๆ ที่น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ก่อนหน้านั้น ยังมีกรณี “สนธิญา สวัสดี” อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย และแพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมและหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 45 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)ทั้งจากการที่ “แพทองธาร” บินไปพบ“ทักษิณ ชินวัตร”และ“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ฮ่องกง เมื่อช่วงปลายปี 2565
รวมทั้งกรณีที่เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ปรากฏข้อความว่า “พรุ่งนี้ เพื่อไทย” คล้ายลายมือทักษิณ และการที่ทักษิณ แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 การนำคำปราศรัยของแพทองธาร เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ จ.อุดรธานี ระบุว่า “จะพาทักษิณกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” มารวมกับสโลแกนของพรรคเพื่อไทย
กรณีดังกล่าว “แสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 “ให้ยุติ” เนื่องจากยังไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่า พรรคเพื่อไทยและแพทองธาร ทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 45 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง(3)
หรือหากย้อนกลับไป เมื่อครั้งเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เมื่อปี2563 ยังมีกรณีที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเวลานั้น ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ“จดหมายน้อย” ของทักษิณ ที่อ้อนคนขอคะแนนคนเชียงใหม่ ให้กับ “ส.ว.ก๊อง”พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่
ก่อนที่ต่อมา กกต.จะมีมติ “ยกคำร้อง” คัดค้านการประกาศของ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ให้”พิชัย”เป็นนายกอบจ.ในท้ายที่สุด
ยังไม่นับรวมอีกหลายกรณี ที่การปรากฎตัวของนายใหญ่เพื่อไทยผู้นี้ จะถูกนำมาขยายผลยื่นยุบพรรค แม้ฟากฝั่งการเมืองทั้ง2ขั้วจะพยายามประสานเสียงว่า พรรคการเมืองควร “เกิดง่าย-ตายยาก” ก็ตาม
ฉะนั้นแม้บรรดา “คีย์แมนสีแดง” จะพยายามเล่นบท “เพลย์เซฟ” วางสถานะทักษิณในฐานะที่ปรึกษา แต่ในยามที่ศูนย์รวมอำนาจพรรคเพื่อไทย ถูกรวมศูนย์แบบเบ็ดเสร็จภายใต้เงาชินวัตรด้วยแล้ว ไม่แปลกที่ประเด็น”ยุบพรรค”จะถูกหยิบมาเป็นคดีไล่ล่าพรรคเพื่อไทย รวมถึงพลพรรคแบบไม่หยุดหย่อนในเวลานี้!
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com