“ชูศักดิ์” แจง 4 เหตุผลยื่นศาลรธน.ชี้ขาดตั้ง ส.ส.ร.-ทำประชามติ ด้าน “ก้าวไกล” โวยยื่นดาบให้กลุ่มขวางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชี้ขาดแทน “ชัยธวัช” ลั่นใช้สิทธิ “งดออกเสียง”

ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายชูศักดิ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า  รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยเหตุผล

“3เหตุผล” ยื่นศาลรธน.ชี้ขาดตั้ง ส.ส.ร.-ทำประชามติ

1. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มบัญญัติหมวด  15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไปเท่านั้น มิใช่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ใช้แทนแทนรัฐธรรมนูญ 60 แต่อย่างใด

2.การบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนและคณะเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 63 ข้อ 119

3.. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน

ทั้งนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังคงถือเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 256 (2)

ดังนั้นการที่ประธานรัฐสภาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนและคณะมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

4.ดังนั้นการอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ปฏิเสธไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนและคณะได้นำเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

เท่ากับอ้างว่าบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมไม่ได้  และรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ หากยังไม่มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเช่นนั้นเลย และหากถือตามความเห็นของประธานรัฐสภาจะเป็นผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายว่า  ตนเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เมื่อผ่านสภาไปแล้วว่าจะมีการทำรัฐธรรมนูญ แล้วใช้การตั้งส.ส.ร.ถามไปคราวเดียวกันกับมาตรา 256 (8) เพราะเป็นเพียงปฐมบทเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ไขใหม่ แต่สมาชิกหลายคน หลายพรรคเห็นว่าถ้าทำไปแล้วจะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญและเสียของไปเปล่า เมื่อมีปัญหาข้อขัดแย้ง และประธานก็ไม่กล้าบรรจุ  เกิดความขัดแย้งกัน

“เพราะฉะนั้นองค์กรที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อหาข้อยุติก็ส่งศาลรธน. ส่วนศาลจะรับหรือไม่อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาดำเนินการตามญัตตินี้ชอบแล้ว” นายวันชัย กล่าว

“ชัยธวัช” อัดยื่นดาบศาลรธน.อำนาจล้น

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ตนและสส.พรรคก้าวไกล จึงขอสงวนความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ ด้วยการงดออกเสียงในญัตติดังกล่าว ไม่ใช่เพราะต้องการจะขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ใช่การขัดขวางญัตติของนายชูศักดิ์ และคณะ เพราะตนเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ซึ่งมาจากสส.ฝั่งรัฐบาล มากพออยู่แล้ว การที่เรางดออกเสียงครั้งนี้เพื่อส่งเสียงเตือนให้รัฐสภาช่วยกันทบทวนแก้ไขระบบการเมืองในอนาคต เพื่อให้สถาบันการเมืองต่างๆมีดุลยภาพ โดยมีอำนาจประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด

ดังนั้น เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นต้องไปถามหรือขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เรามีอำนาจอยู่แล้ว ตนและพรรคก้าวไกลไม่สนับสนุน เนื่องจากจะเป็นการเปิดช่องให้ศาลฯวินิจฉัยขยายอำนาจของตัวเอง หรือบางครั้งก็ตีความรัฐธรรมนูญเกินบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“วันนอร์” ยกยุค”ชวน”เทียบเคียง

ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์   มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา  ชี้แจงว่า ร่างที่นายชูศักดิ์กับคณะเสนอประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.นั้น เป็นการแก้ไขทำนองเดียวกันกับร่างที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะเสนอมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64  ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา ได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุกฎหมายของนายสมพงษ์ได้ ตามมติความเห็นของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นต่อประธานสภา ในเรื่องการวินิจฉัยการบรรจุกฎหมาย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 นายชวนจึงให้แจ้งผลไปยังนายสมพงษ์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 64

“ผมได้ทำหน้าที่ของผมไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และข้อบังคับแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจะเห็นตามที่นายชูศักดิ์เสนอหรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีอะไร เป็นเรื่องความชัดเจนที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อจะไปแล้วไม่ล้ม ไปแล้วไม่เสียของ ไปแล้วก็ไม่เสียงบประมาณและเวลาของประชาชนโดยไม่จำเป็นเท่านั้น” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

กระทั่งเวลา18.10น. ได้มีการลงมติในญัตติฯ ว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผลปรากฎว่า เห็นด้วย 233 เสียง ไม่เห็นด้วย 103 เสียง งดออกเสียง 170 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบญัตติดังกล่าวเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป จากนั้นประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.15น.

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com