เสียงวิพากษ์กระหึ่ม หลัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เกินมา 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ตอกย้ำด้วย “สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ “ที่ระบุว่า อดีตนายกฯเข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ คือ เป็น นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-เจ็บป่วยหลายโรค”และบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ “ไทยพีบีเอส ออนไลน์” สัมภาษณ์
ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่า บ้านจันทร์ส่องหล้าได้มีการทาสีรั้วใหม่ เพื่อเตรียมต้อนรับอดีตนายก “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งคาดว่า เข้าหลักเกณฑ์จะได้รับการพักโทษในวันที่ 22 ก.พ.2566 หลังจากกรมราชทัณฑ์ส่งตัวผู้ต้องขังเข้ารับการรักษาอาการป่วย โดยนอนพักรักษาตัวบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา และเดือนก.พ.นี้จะครบ 6 เดือนตามกฎหมายกำหนดแล้ว
“เรื่องทาสีรั้วบ้านไม่รู้ …ไม่เกี่ยวกัน แต่เรื่องเข้าเกณฑ์พักโทษ ขณะนี้เข้าเกณฑ์แล้ว คุณทักษิณ อายุ 74 ปี เข้าข่ายผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการป่วย ถือว่าเข้าข้อใดข้อหนึ่ง และเป็นดุลยพินิจของ ผบ. เรือนจำ ที่จะเสนอขึ้นไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเสนอเข้าคณะกรรมการพักโทษ ซึ่งมีการประชุมทุกเดือน ยังไม่ทราบว่า มีการเสนอชื่อมาหรือไม่ การประชุม เป็นอำนาจของ ผบ. เรือนจำที่จะต้องไปทำกฎเกณฑ์ ของผู้ต้องขังแต่ละราย แล้วจึงเสนอต่ออธิบดีฯ เป็นเรื่องภายใน คือ ตอนนี้ยังไม่เห็น แม้กระทั่งกรมราชทัณฑ์ก็ยังไม่ทราบว่า ผบ.เรือนจำเขาเสนอมาแล้วหรือไม่”นายสมบูรณ์ กล่าว
และอธิบายว่า สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์การพักโทษ เงื่อนไขสำคัญ นอกจากผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการป่วย ยังต้องผ่านขั้นตอนการประเมินพฤตินิสัย การมีญาติรับเลี้ยงดู ที่สำคัญต้องไปดูคดีคำพิพากษาว่า มีผู้เสียหายหรือไม่ ถ้ามีผู้เสียหาย เขาอาจจะต้องให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะว่า หากปล่อยตัวออกไป จะไปทำร้ายใครหรือไม่ เป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ แต่ทั้งหมด คือ ดุลยพินิจของผบ. เรือนจำ ในแต่ละแห่งที่เขาจะเสนออธิบดีราชทัณฑ์ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว รัฐมนตรียุติธรรมก็ยังไม่ทราบ
เมื่อถามว่า หากอดีตนายกฯทักษิณ เข้าหลักเกณฑ์พักโทษวันที่ 22 ก.พ.แต่ยังมีคดีที่ตามมาอีก 2-3 คดี
“มันคนละประเด็นกัน เขาไม่ได้คำนึงถึงในเรื่องอนาคต แต่ดูวันที่ว่า นักโทษคนไหนเข้าหลักเกณฑ์ก็พักโทษไป แต่เรื่องใหม่ก็ค่อยมาว่ากัน มันคนละเรื่องกัน”โฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าว
และย้ำว่า ไม่เคยไปเยี่ยมอดีตนายกฯทักษิณ “ …ใครเขาจะให้ไปเยี่ยม ข้อเท็จจริง คือ ไปเยี่ยมเขา ก็คงไม่ให้เยี่ยม มีบุคคลภายนอกที่เข้าไปเยี่ยมได้เมื่อวันก่อน และได้พบกับอดีตนายกฯ คือ ตัวแทนของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นระดับผู้อำนวยการ กับผบ.เรือนจำ ไปกันหลายคน เข้าไปเยี่ยมที่เตียงป่วย คณะกรรมการกรมราชทัณฑ์ก็ยืนยันว่าอยู่ เรามั่นใจ เขายืนยันว่า ได้พบอดีตนายกฯทักษิณจริงว่า อยู่ที่โรงพยาบาล …ไม่มีหรอกคอนโด ในหลักการเบื้องต้น ก็เชื่อข้าราชการ เพราะคนข้างนอกเป็นหน่วยตรวจสอบ”
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การอนุญาตให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาเข้าเยี่ยมอดีตนายกฯไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุว่า ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักตรวจการแผ่นดินรัฐสภาในเรื่องนี้ และทางผู้ตรวจฯได้ส่งเจ้าหน้าที่มากรมราชทัณฑ์มาประชุมร่วมกัน แล้วเขาก็ถามว่าอดีตนายกฯทักษิณ เข้า- ออก อย่างไร ทางกรมราชทัณฑ์ได้อธิบายกฎระเบียบให้ฟัง จากนั้นเขาจึงขอไปตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยขอขึ้นไปชั้น 14 เมื่อเป็นหน่วยตรวจสอบของรัฐที่มีอำนาจเฉพาะก็สามารถขึ้นไปได้
แต่ในส่วนของคณะกรรมาธิการตำรวจ ไม่สามารถขึ้นไปพบอดีตนายกฯทักษิณ ได้นั้น โฆษกกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายการเมือง ชี้แจงว่า เป็นคนละประเด็นกันและคนละส่วนกัน คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตามกฎหมาย
แต่ทางคณะ ส.ส. เคยสอบถาม ได้รับคำตอบทำนองว่า เขาไม่ได้เจาะจงมาว่าที่จะไปเข้าที่เตียง แต่ถ้าเจาะจงก็เป็นผบ.เรือนจำ และเขาไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมาย ต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบที่เวลาเข้าไปตรวจ หน่วยราชการทุกหน่วยก็ต้องให้ความร่วมมือ ก็ต้องทำ จำเป็นต้องทำ
เมื่อถามว่า สังคมสงสัยว่า อดีตนายกฯผ่าตัด พักฟื้น จริงหรือไม่ “ รู้ ๆว่าสงสัย จริงๆ ผมไม่อยากพูด เพราะว่า ผมก็ได้อ่านเอกสารทั้งหมด แต่การเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เป็นการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะการนำข้อมูลของจากแพทย์มาเปิดเผย มันผิดจรรยาบรรณ แต่ยืนยันได้ว่าใบแพทย์ ระบุว่า มีป่วยหลายโรคเลย แล้วก็มีการผ่าตัด แต่ก็บอกมากกว่านั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องผิด และเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ป่วย”
ส่วนอาการผู้ป่วยเป็นอย่างไรบ้างนั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ข้อมูลครั้งสุดท้ายที่รายงานอาการป่วยของอดีตนายกฯทักษิณต่อรมว.ยุติธรรม เมื่อครั้งไม่เกิน 120 วัน แพทย์ผู้รักษาของโรงพยาบาลตำรวจ ได้ระบุชัดว่าป่วยด้วยโรคอะไรบ้าง สรุปแล้ว จำเป็นต้องอยู่รักษาตัวต่อไปที่โรงพยาบาล
โดยกรมราชทัณฑ์ระบุว่า การที่จะให้ผู้ป่วยรักษาต่อที่โรงพยาบาล หรือไม่นั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาจากเอกสารและข้อวินิจฉัยของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจซึ่งชัดเจนว่า แพทย์ยืนยันว่า ต้องอยู่ต่อ
“… เขาก็ไม่กล้าบอก ให้กลับมาที่โรงพยาบาล แล้วถ้ากลับมาแล้ว เกิดเป็นอะไรขึ้นมาจากโรค เขาจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะในระเบียบระบุชัดว่า ให้เป็นดุลพินิจของราชทัณฑ์ โดยพิจารณาจากความเห็นแพทย์ประกอบด้วย เขาก็บอกเมื่อหมอมาแบบนี้ ใครจะกล้าให้กลับมาที่ราชทัณฑ์ เขาพูดอย่างนั้น”