เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า คดีการเมืองคือคดีที่มีวัตถุประสงค์หรือมีเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งรวมถึงคดีที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองด้วย สำหรับคดีของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นคดีการเมืองอย่างแท้จริง เพราะเป็นคดีที่ถูกรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากคณะผู้ยึดอำนาจซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่งตั้งคณะบุคคลฝ่ายตรงข้ามเรียกชื่อย่อว่า คตส. ทำหน้าที่แทน ป.ป.ช. ดำเนินคดีกับบุคคลในรัฐบาลของอดีตนายกฯ ที่ถูกยึดอำนาจ ทั้งที่มี ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจอยู่แล้ว แบบนี้ไม่เรียกว่าการเมืองจะเรียกว่าอะไร
ในระหว่างการดำเนินคดีที่ดินรัชดาซึ่งเป็นคดีแรก อดีตนายกฯ ได้หลบหนีไปต่างประเทศ จากนั้นถูกศาลพิพากษาจำคุกสองปี ซึ่งหากไม่ได้ตัวมาลงโทษภายใน 10 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2561 จะขาดอายุความการลงโทษตามมาตรา 98 (3) ส่วนคดีอื่นที่เหลือจะต้องได้ตัวมาฟ้องภายในไม่เกิน 15 ปี หรือภายในปี 2564 ตามมาตรา 95 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่เช่นนั้นจะขาดอายุความเพราะคดีอาญาจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยมิได้ อันจะทำให้อดีตนายกฯ สามารถเดินทางกลับไทยได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินปี พ.ศ. 2564 โดยไม่อาจฟ้องและลงโทษท่านได้อีกเพราะคดีขาดอายุความทั้งหมดแล้ว
ดังนั้น เพื่อไม่ให้อดีตนายกฯ ซึ่งขณะนั้นฝ่ายที่มีอำนาจรัฐยังเห็นเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามได้กลับประเทศ สนช. ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. จึงได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 โดยมาตรา 28 ให้พิจารณาและสืบพยานคดีอาญาลับหลังจำเลยได้
ผลของการแก้ไขหลักเกณฑ์สากลที่ทั่วโลกยึดถือ ส่วนของประเทศไทยก็ได้ใช้มาตั้งแต่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อปี พ.ศ. 2477 จึงทำให้คดีความของอดีตนายกถูกพิจารณาลับหลังและบางคดีถูกศาลพิพากษาลงโทษ ทำให้อายุความการลงโทษขยายเพิ่มต่อไปอีกสิบปี ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมทางอาญา แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นคดีการเมืองจะให้เรียกว่าอะไร
ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง ผมเห็นใจที่อดีตนายกฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี เพราะการดำเนินคดีกับท่านเริ่มต้นและจบลงด้วยวิธีทางการเมืองโดยใช้อำนาจของคณะรัฐประหารทั้งสิ้น แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปทำให้ท่านได้กลับบ้าน ทำให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งจึงคลี่คลายและลดลง และท่านได้รับพักการลงโทษตามสิทธิที่มีกฎหมายรับรองโดยชอบและได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์
dailynews.co.th