อาจได้เห็นปรากฎการณ์บาลานซ์อำนาจระหว่างการเมืองขั้วเก่า และขั้วใหม่ อีกหลายประเด็นร้อน “ดิจิทัลวอลเล็ต”เป็นเพียงแค่ฉากแรก
- เครือข่ายของ “อำนาจเก่า” ไม่ไฟเขียวให้ “เศรษฐา-เพื่อไทย” ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้ตามสะดวก ตรงกันข้ามกลับเปิดเกมกฎหมายขวางทาง
- สะท้อนให้เห็นว่าแม้ “เพื่อไทย” จะพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ “ขั้วอนุรักษนิยม” แต่ความไว้วางใจยังไม่บังเกิด
- เกือบทุก องค์กร ที่ขวางทาง “เศรษฐา-เพื่อไทย” บางองค์กรได้รับการแต่งตั้ง บางองค์กรเติบโต มาจาก “กลุ่มอำนาจเก่า” ซึ่งวางเครือข่ายฝังลึกไว้ถึง 9 ปี
จะเดินไปทางไหนก็ล้วนมีแต่อุปสรรค สำหรับโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากองค์กรอิสระ หน่วยงานรัฐ ตั้งการ์ดสูง
แม้จะให้เหตุผลป้องปราม-ป้องปราบการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงวินัยการเงินการคลัง ที่อาจกระทบต่อประเทศ หากแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าได้
หากมองเหตุผลทางการเมือง “เศรษฐา-เพื่อไทย” ก็เริ่มมีข้อสังเกตว่า “กับดัก”ที่ขวางเอาไว้แทบทุกทาง ไม่ให้เดินหน้าสร้างผลงาน ไม่เปิดช่องให้ใช้งบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นผลมาจากเครือข่ายอำนาจเก่า สายอนุรักษนิยมหรือไม่
ความพยายามในการผลักดันโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายสำคัญของเพื่อไทย เริ่มสะดุดด้วยกระแสจากหลายภาคส่วนในสังคมเปิดหน้าท้วงติงถึงผลได้ไม่คุ้มกับเสีย ทำให้รัฐบาลต้องชงัก และพยายามหาทางให้เกิดความชอบธรรม
“กฤษฎีกา-ป.ป.ช.”ขวางลำ
เริ่มที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา องค์กรแรกที่รัฐบาลปรึกษาแง่กฎหมาย แต่กลับกลายเป็นปะ ฉะ ดะ กับรัฐบาล ไม่ยอมเป็นตรายาง เปิดทางให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการออกกฎหมายกู้เงินได้ง่ายๆ
โดยรัฐบาลมีเพียงคำถามเดียว สามารถออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อดำเนินโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่ ทว่าคำตอบของ “กฤษฎีกา” กลับไม่ตรงกับคำถาม
เนื่องจากไม่ฟันธงว่า ออก พ.ร.ก.กู้เงิน ได้หรือไม่ แต่เลือกแทงกั๊ก รัฐบาลสามารถออกกฎหมายกู้เงินได้ แต่ต้องไม่ผิดวินัยการเงินการคลัง ปมวิกฤติหรือไม่วิกฤติ ทำให้รัฐบาลต้องยอมถอยหนึ่งก้าว
จะว่าไปแล้วหากย้อนยุครัฐบาลที่ผ่านมาการตีความกฎหมายของ “กฤษฎีกา” แทบจะไม่เป็นโทษ แต่กลับเป็นคุณเกือบทุกกรณี พร้อมมีทางออก-ข้อแนะนำอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะชื่อของ “เนติบริกร” ที่อยู่รายล้อมผู้ถืออำนาจล้วนเติบโตมาจาก “กฤษฎีกา” แทบทั้งสิ้น
ด่านต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่สะท้านสะเทือนกระแสรัฐบาล ต้องยอมรับว่า ป.ป.ช. ชุดนี้ถูกมองว่าเป็นเด็กในคาถาของอดีตผู้นำ คสช. แม้ช่วงหลังจะมีแย่งชิง ส่งคนของตัวเองเข้าไปฝังตัวใน ป.ป.ช.เพื่อสร้างแรงต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม
แต่หากบิ๊กคนใดคนหนึ่งไฟเขียวให้ “เศรษฐา-เพื่อไทย” ทำโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตได้เต็มที่ เพียงแค่กดปุ่ม กรรมการ ป.ป.ช.หลายคนคงยากจะปฏิเสธ
ที่สำคัญอาจจะวางกรอบให้รัฐบาลเดินหน้าได้ง่ายกว่านี้ ไม่มาขีดเส้นให้เดินด้วยวิธีการตรงกันข้ามกับที่วางแนวทางเอาไว้ อาทิ รัฐบาลต้องการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ป.ป.ช.แนะนำให้ใช้งบประมาณปกติ
สว.ซักฟอกครั้งแรกรอบ 5 ปี
ด่านถัดมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ถูกกดดันจาก “เศรษฐา-รัฐบาล” อย่างหนัก ให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ กนง.มีมติคงดอกเบี้ย 2.50 ต่อปีต่อไป โดยมีการคาดการณ์ที่แตกต่างจากรัฐบาล
เช่นเดียวกัน ในยุครัฐบาลที่แล้ว การทำงานของธนาคารแห่งประเทศ และกนง. ไม่เคยมีปมขัดแย้ง มักจะไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งต้องยอมรับว่า “บิ๊ก กนง.” รวมถึง “เบอร์หนึ่งแบงค์” มาจากการแต่งตั้งของอดีตบิ๊กรัฐบาล มีการวางไลน์ให้คนสนิท คนไว้ใจเติบโตตามสายบังคับบัญชา
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ สว. ในการยื่นซักฟอกรัฐบาล ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ครั้งแรกตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล คสช.เช่นกัน เพราะในยุครัฐบาลชุดเก่า สว.ไม่มีแอ็คชั่นออกมากดดันแม้แต่ครั้งเดียว
ที่สำคัญ สว. ที่ยื่นญัตติขอเปิดซักฟอก เกือบทั้งหมดเคยยกมือโหวตให้ “เศรษฐา” นั่งเก้าอี้นายกฯมาแล้ว
อย่างที่รู้กันว่า สว.มีเจ้าของ โอกาสจะนอกแถวยากมาก ในทางตรงกันข้ามหากมีสัญญาณให้ สว.สงบนิ่ง ไม่กดดันรัฐบาลเพื่อไทย ก็สามารถทำได้ง่ายดายเช่นเดียวกัน
เมื่อเกมการเมือง “เครือข่ายอนุรักษนิยม” ยังคงไม่วางใจรัฐบาลเพื่อไทย ย่อมอ่านได้ว่าเป็นความไม่ไว้วางใจท่าทีของ “คนชั้น 14” ยิ่งหากได้รับการพักโทษ ความหวาดระแวงยิ่งทวีคูณ
ดังนั้น ข้อสังเกตถึงการวางเกมผ่านองค์กรอิสระ-หน่วยงานรัฐ-สว. เพื่อสกัดไม่ให้กลับมาใช้อำนาจเกินเลย ก็ย่อมมองเช่นนั้นได้
วันนี้ แม้เพื่อไทยจะถืออำนาจรัฐ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ตามต้องการทุกอย่าง สัญญาณการถูกควบคุมด้วยกลไกของ “อำนาจเก่า” ยังแรง จนไม่สามารถขับเคลื่อนงานการเมืองได้สะดวก สะท้อนความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจ
ดังนั้น อาจได้เห็นปรากฎการณ์บาลานซ์อำนาจระหว่างการเมืองขั้วเก่า และขั้วใหม่ อีกหลายประเด็นร้อน “ดิจิทัลวอลเล็ต”เป็นเพียงแค่ฉากแรก
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com