แต่ที่แน่ ๆ รัฐบาลวางแผนเตรียมพร้อม ป้องกันสุดลิ่มทิ่มประตู มิให้ “ก้าวไกล” หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น “ซักฟอก” ในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน
- “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ 2 สมัยที่เพิ่งได้รับการ “พักโทษ” คดีทุจริต กลับเข้า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ฐานบัญชาเกมการเมืองครั้งแรกในรอบเกือบ 17 ปี
- นับตั้งแต่เขากลับไทยมารับโทษคดีทุจริตเมื่อ ส.ค. 2566 หรือราว 6 เดือนที่แล้ว ถูก “ฝ่ายค้าน” และภาคประชาชนบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ความเป็น “นักโทษเทวดา” เนื่องจากมิเคยอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว แต่กลับพักรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตลอด
- “ก้าวไกล” สบช่องรวบรวมข้อมูลประเด็นนี้เตรียมมาซักฟอกเขาในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ แต่เหมือนจะสายเกินไป เพราะรัฐบาลชิงแก้เกมให้ สว.มาอภิปรายตาม ม.153 ปลายเดือน มี.ค. ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ 9 เม.ย.
- แถมคดี ม.112 “ทักษิณ” อสส.เตรียมชี้ขาด 10 เม.ย.คล้อยหลังวันปิดประชุมสภาฯ ดับฝัน “ก้าวไกล” ต้องรอไปอีกหลายเดือน จนเปิดสมัยประชุมหน้า กว่าจะซักฟอกได้อีกครั้ง
18 ก.พ.2567 เป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องจารึกลงประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ 2 สมัย กลับเข้าบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” ฐานบัญชาการเกมอำนาจอีกครั้งในรอบเกือบ 17 ปี หลังหลบหนีคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากได้รับการ “พักโทษ” เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์
แม้ดูเหมือนรูปเกมจะเข้ามาทางองคาพยพ “สีแดง” แต่ยังเหลือชนักสำคัญปักหลัง “ทักษิณ”อยู่ นั่นคือตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถูกกองทัพบก (ทบ.) ในยุค “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น ผบ.ทบ. แจ้งความเมื่อปี 2558
ปัจจุบันสำนวนคดีนี้อยู่ในมือของ “อัยการสูงสุด” หรือ อสส.รอการชี้ขาด โดยมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.สั่งฟ้อง 2.ไม่สั่งฟ้อง 3.เลื่อนนัดฟังคำสั่ง โดย อสส.นัดชี้ขาดคดีนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. 2567
ในวันที่ 19 ก.พ.หนึ่งวันหลัง “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ ได้เดินทางไปสำนักงาน อสส.เพื่อรายงานตัวต่ออัยการในคดีนี้ โดยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา พร้อมกับวางหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวน 5 แสนบาท และได้รับอนุญาต
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่ อสส.นัดฟังคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ เป็นจังหวะที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร “ปิดสมัยประชุม” ไปแล้ว คือวันที่ 9 เม.ย. 2567 ตามไทม์ไลน์สภาฯ
นั่นเท่ากับว่า การเตรียมยื่นญัตติ“ซักฟอกรัฐบาล”ของ“ฝ่ายค้าน” ที่วางกรอบไว้คร่าวๆ ช่วง เม.ย.2567 จะไม่สามารถซักฟอกรัฐบาลในประเด็น“นักโทษเทวดา”ได้ เพราะต้องรอเปิดสมัยประชุมหน้าเสียก่อน ซึ่งอาจสายเกินไป เพราะ อสส.มีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ไปแล้วนั่นเอง
แม้ขณะนี้ จะไม่สามารถก้าวล่วงดุลพินิจของ อสส.ได้ว่า แนวทางคำสั่งคดี ม.112 ดังกล่าวของ “ทักษิณ” จะออกมาในรูปแบบใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีดังกล่าวตกเป็น “เป้าหมายสำคัญ” ของ “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะ “ก้าวไกล” ที่รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานไว้จำนวนมาก เตรียมซักฟอกรัฐบาลในเรื่องนี้
“บิ๊กเนมสีส้ม” เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า การวางกรอบ ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงต้น เม.ย. ถึงช่วง “สงกรานต์” 2567
โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยแถลงถึงโรดแมปของพรรค ระบุว่า เม.ย.หลังสงกรานต์ เป็นไปได้ มีโอกาสว่าเราจะเริ่มคิด หรือมีโอกาสอภิปรายทั่วไป หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงนั้นหรือไม่ แต่เป็นช่วงที่เราคิดว่าเวลาน่าจะเหมาะสมกับการทำงานของรัฐบาล โอกาสในการอภิปรายปีละ 1 ครั้ง คงเริ่มคิดกันว่า ผ่านมาครึ่งปีน่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมที่คิดเรื่องนี้
แต่ฝ่ายรัฐบาลแก้เกมด้วยการ เปิดโอกาสให้ “สว.” อภิปรายรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในช่วงปลาย มี.ค-ต้น เม.ย. 2567 เท่ากับว่า “ฝ่ายค้าน” จะยื่นญัตติเพื่อซักฟอกรัฐบาลในสมัยประชุมนี้ไม่ทัน
นอกจากนี้ หาก อสส.มีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ไปแล้ว “ฝ่ายค้าน” จะไม่สามารถนำประเด็น “นักโทษเทวดา” มาซักฟอกในสมัยประชุมหน้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดลงไปแล้วนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การเดินเกมดังกล่าวของรัฐบาล เรียกว่า “ปิดประตู” ฝ่ายค้าน มิให้มีการหยิบยกเรื่องคดี ม.112 ของ “ทักษิณ” มาพูดในสภาฯ เพราะไม่ใช่กระทบแค่ “ภาพลักษณ์” ของรัฐบาลเท่านั้น แต่อาจมีการ“ก้าวล่วง”เบื้องสูง จนทำให้ฉากทัศน์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้
เรื่องนี้มี 2 ประเด็น คือ 1.ทักษิณ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “นักโทษเทวดา” เพราะนับตั้งแต่กลับไทยมารับโทษคดีทุจริต ไม่เคยอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว แต่กลับถูกส่งมารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และส่งต่อไปยัง “ชั้น 14” โรงพยาบาลตำรวจ จนกระทั่งได้รับการพักโทษ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ “ก้าวไกล” ที่จับตา แต่บรรดา “อนุรักษนิยมเก่า” ก็โฟกัสเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม คปท. หรือกลุ่มของ “จตุพร พรหมพันธุ์” เป็นต้น
2.คดี ม.112 ของ “ทักษิณ” ซึ่ง “ก้าวไกล” ในฐานะพรรคที่โดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ล้มล้างการปกครอง” จากนโยบายหาเสียงแก้ไข ม.112 และมี สส.หลายคนโดนคดีนี้อยู่ อาจอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายนี้ นำไปสู่การ “ปลุกปั่น” บรรดา “ด้อมส้ม” นอกสภาฯได้
จนถึงปัจจุบัน “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะ “ก้าวไกล” ยังคงหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังมิได้ระบุรายละเอียดว่า จะแก้เกมดังกล่าวได้อย่างไร
แต่ที่แน่ ๆ รัฐบาลวางแผนเตรียมพร้อม ป้องกันสุดลิ่มทิ่มประตู มิให้ “ก้าวไกล” หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น “ซักฟอก” ในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com