เห็นทีเกมต่อสู้ของการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า คงได้วัดกันมันหยดระหว่าง โคตรประชานิยม กับ กระแสนิยมพรรค โดยจุดโฟกัส น่าจะอยู่ที่ เพื่อไทย กับ ก้าวไกล นั่นเอง
หลังจากนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชน ผ่าน Digital Wallet หรือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีความชัดเจน ถึงขั้น ประกาศให้รอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้
ทั้งนี้ “เศรษฐา” สรุปผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ว่า
1. ที่ประชุมรับทราบ เศรษฐกิจมีปัญหา มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยต่ำมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการเจริญเติบโตสูงกว่าเราเป็นเท่าตัว
2. กระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้
“ผมได้มอบหมายให้กระทรวงคลัง และสํานักงบประมาณดําเนินการเรื่องนี้”
3. มอบกระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้าและสินค้า
4. ให้กระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบและการจัดทําในลักษณะเปิดหรือภาษาอังกฤษคือ Open Loop เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ
5. ขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติวางกรอบตรวจสอบวินิจฉัยร้องทุกข์กล่าวโทษและการเรียกเงินคืน
โดยทั้ง 5 ประเด็นให้ทุกส่วนที่ได้รับมอบหมายรายงานต่อที่ประชุมในวันที่ 10 เม.ย.
6. วันที่ 10 เม.ย. จะได้ข้อสรุปทั้งหมด และเสนอ ครม. พิจารณาภายในเดือน เม.ย.
7. ยืนยันกรอบ timeline ตามที่ท่านจุลพันธ์ (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแถลง คือ 1.ไตรมาส 3 ลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน และ 2.ไตรมาส 4 เงินถึงมือประชาชน
“ที่ประชุมวันนี้ ทุกภาคส่วนเห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมดรวมถึงแบงค์ชาติ ดังนั้น ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวดีวันที่ 10 เม.ย. นะครับ” นายเศรษฐา กล่าวย้ำ
แน่นอน, สิ่งที่น่าวิเคราะห์ไล่มาตั้งแต่ เศรษฐกิจวิกฤติจริงหรือไม่ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้วยการแจกเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
เรื่องนี้ ถ้าฟังจากกระแสข่าว พบว่า มีความเห็นอยู่ 2 ส่วน กล่าวคือ ประชาชนที่ฐานะปานกลางลงถึงต่ำสุด ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “วิกฤติ” ชัดเจน เพราะประชาชนส่วนนี้ ยังไม่ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจวิกฤติซ้อนวิกฤติจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ที่คนไทยรู้ดี “คนจน” เดือดร้อนแค่ไหน
คนส่วนนี้ ต่างเพรียกพร่ำร่ำหา “เงิน 1 หมื่นบาท” จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลฯของรัฐบาล ทั้งยังตั้งความหวังเอาไว้สูงว่ารัฐบาลจะต้องทำได้
อย่าลืมว่า เงินส่วนนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เงินสด แต่ก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนในการใช้ชีวิตที่ชักหน้าไม่ถึงหลังไปได้ อย่างน้อยที่สุด เงินสดที่ทำงานรับจ้างมาได้ ก็จะได้นำไปใช้ในส่วนที่จำเป็นบีบรัดอย่างอื่น อย่างที่มีคำพูดทำนองว่า “คนไม่เคยจน ไม่เคยอดอยาก ไม่รู้หรอกว่า ทุกข์ร้อนมันเป็นอย่างไร” และยังคงเป็นคำพูด “อมตะ” ในสังคมไทยเสมอ
ขณะ เศรษฐี คนรวย ผู้มีอันจะกิน คนที่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องการเงินการคลังของประเทศ น้ำเสียงจะออกมาในทำนอง เป็นห่วงเป็นใยในการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท(ที่ระบุแหล่งเงินเอาไว้เดิม)จะสร้างภาระให้กับระบบการเงินการคลังของประเทศ สร้างหนี้ให้กับลูกหลาน และไม่เชื่อว่า เงินดิจิทัลฯจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งอาจมีช่องโหว่ให้เงินรั่วไหล เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ และข้าราชการจำนวนมาก ต้องติดคุก และแม้แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องหนีโทษไปอยู่ต่างประเทศ
ความเห็นในส่วนนี้ แม้แต่การติดตามศึกษานโยบายฯของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็มีคำเตือนในทำนองเดียวกัน โดยให้คำนึงถึงความผิดตามกฎหมายการเงินการคลังด้วย
ดังนั้น ถ้าวัดกันที่กระแสคัดค้าน กับ กระแสความต้องการ เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายหลังมีพลังเหนือกว่า เพราะประชาชนไทยจำนวนมากมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี แต่ถ้าวัดกันที่ความรู้ ความเป็นเหตุเป็นผล และข้อกฎหมาย ฝ่ายคนส่วนน้อยมีพลังมากกว่า เสียงดังพอที่จะทำให้นโยบายแจกเงินดิจิทัลฯจำเป็นต้องรอบคอบรัดกุม จนต้องเลื่อนมาตลอด
กระนั้น ในเมื่อเสียงทัดทาน คัดค้าน ก็ไม่อาจชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จะเกิดความผิดพลาดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง จึงยังขาดความเป็นเหตุเป็นผล และทำให้กระแสเรียกร้องให้ทำตามนโยบายมีเหตุมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยประชาชนคนยากจน
สำคัญที่สุดคือ ฐานการเมืองของคนนับ 50 ล้านคน ถ้าเป็นไปตาม “กลุ่มเป้าหมาย” ที่จะแจกเงิน ถือว่า มากพอที่จะสร้างกระแสนิยมให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้อย่างมหาศาล
ยิ่งกว่านั้น อย่าลืมว่า นโยบายการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็น 1 ใน 2 ของนโยบาย “เรือธง” พรรคเพื่อไทย ซึ่งอีกนโยบาย คือ “ซอฟเพาเวอร์” ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นเหนืออื่นใดที่จะต้องผลักดันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
ถามว่า มีความจำเป็นขนาดต้องทำให้ได้สถานเดียว หรือ ไฟต์บังคับเลยหรือไม่ คำตอบที่เห็นอยู่ในเวลานี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกมากนัก ที่จะต่อสู้กับกระแสนิยมพรรคก้าวไกล ได้
เพราะผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะผ่านไปแล้ว ก็ยังปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับความนิยม ทิ้งห่างทั้ง นายเศรษฐา และ “อุ๊งอิ๊ง” – น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะล่าสุด “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567”
จากการสำรวจ ระหว่างวันที่11-13 มีนาคม 2567(เผยแพร่ 23 มี.ค.67) พบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล คว้าอันดับหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนเป็นนายกฯ ด้วยคะแนนถึง 42.75% ซึ่งเด่นชัดด้วยคุณสมบัติตรงไปตรงมาและมีความกล้าหาญ
ขณะที่อันดับสองยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ อันดับสาม นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย และอันดับสี่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย
ด้านความนิยมต่อพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลยังคงครองอันดับหนึ่งร้อยละ 48.45 พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 22.10 และร้อยละ 12.75 ของประชาชนยังไม่ตัดสินใจ
แสดงให้เห็นว่า นายพิธา และพรรคก้าวไกล กระแสติดลมบนเสียแล้ว ทั้งยังทิ้งห่างคู่แข่ง “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง” และพรรคเพื่อไทย อย่างไม่เห็นฝุ่น
จริงอยู่, อาจมีประเด็นที่ “พิธา” ในฐานะหัวหน้าพรรคขณะถูกร้อง และพรรคก้าวไกล อาจสะดุดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือ ถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย “ยุบพรรค” จนเป็นเหตุให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี
กรณีแก้ไข ป.อาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส.ส.จำนวนหนึ่งที่ลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาจถูก “ป.ป.ช.” ชี้มูลผิดจริยธรรมร้ายแรง ถึงขั้นตัดสินเว้นวรรคการเมืองตลอดชีวิต ซึ่ง กรณี “ยุบพรรค” กกต.มีมติเอกฉันท์ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เหลือก็แต่ช้าหรือเร็ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเท่านั้น
แต่หลายคนเชื่อว่า ไม่มีผลต่อกระแสนิยมพรรคก้าวไกล แม้ว่า ส.ส.จะต้องย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งอาจมีการเตรียมเอาไว้แล้ว รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่ ก็ยังสานต่ออุดมการณ์พรรคต่อไปได้ เหมือนกรณียุบอดีตพรรคอนาคตใหม่
เพียงแต่ถ้า “ยุบพรรค” จริง อาจไม่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีนี้อาจทำให้ “พรรคใหม่” ต่อสู้ด้วยกระแสพรรคอย่างแท้จริง ไม่ใช่กระแส “บุคคล”บวก กระแสนิยมพรรค อย่างตอนที่ยังมี “พิธา” แต่ก็ไม่แน่ ถ้าพรรคใหม่หาคนมาเป็นตัวแทน “พิธา” ได้อย่างลงตัว
ถามว่า ทำไมกระแส “พิธา-ก้าวไกล” พุ่งไม่หยุด ประเด็นอาจอยู่ที่ อารมณ์ประชาชนยังค้าง และคาใจ กรณี “พิธา” ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็น “นายกฯ” ด้วยความเห็นใจ และยังสนับสนุนต่อไป
ประเด็นต่อมา “พิธา” และพรรคก้าวไกล ถูกมองว่า เป็นทางออกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากระบบเผด็จการผูกขาด หรือ ตระกูลการเมืองผูกขาด มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
และสุดท้าย “พิธา” และพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนที่จริงจริง ของ “คนรุ่นใหม่” ที่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีข้อผิดพลาดในการ “ตระบัดสัตย์” ต่อ “คนรุ่นใหม่” ทั้งยังกล้าและท้าทาย “อำนาจ” ที่จะอยู่เคียงข้างการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ หากจะสู้กับกระแสนิยม “ก้าวไกล” (หรือพรรคใหม่ หากก้าวไกลถูกยุบ) มีทางเดียว “เพื่อไทย” จะต้องเทหมดหน้าตัก รวมถึงเสี่ยงเป็นเสี่ยง เพื่อแจกเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่นบาท ให้กับคน 50 ล้านคน “ซื้อใจ” ให้สำเร็จ
มิเช่นนั้น นอกจากจะเป็นคู่ต่อสู้ที่ไม่สูสีแล้ว ข้อโจมตีที่มีต่อประเด็น “ตระบัดสัตย์” ประเด็น “ทักษิณ ชินวัตร” ถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน และทำผิดกฎหมาย ในช่วงรักษาอยู่ใน รพ.ตำรวจ และ “พักโทษ” การเอาอำนาจรัฐ-ราชการไปรับใช้ ยิ่งถ้าผลักดัน “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯยิ่งไปกันใหญ่
อย่าดูถูกความรู้สึก ความคิดความอ่านของคนไทยให้มากไปกว่านี้ ก็แล้วกัน!?
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com