ปฏิกิริยาของกรรมาธิการพรรคก้าวไกลที่ถึงกับลาออกจากการเป็นกรรมาธิการ “แลนด์บริดจ์” หากประเมินจากท่าทีของกรรมาธิการไม่ว่าจะเป็นสส. ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ

1 ไม่สามารถยอมรับต่อคุณภาพของรายงานอันจัดทำโดยสนข. 1 ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของคณะกรรมาธิการ

เป็นการคัดค้านต่อ “รายงาน” มิได้คัดค้านต่อ “แลนด์บริดจ์”

หากติดตามบทบาทในการเสนอความเห็น “ต่าง” ไม่ว่าจะมาจากกรรมาธิการของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมาจากกรรมาธิการซึ่งเข้ามาเพราะรากฐานการเป็นนักวิชาการ

ข้อใหญ่ใจความเป็นการตั้งคำถามต่อคุณภาพของ “รายงาน” ที่จัดทำโดยสนข.แห่งกระทรวงคมนาคมเป็นด้านหลัก เป็นความสงสัยต่อการได้มาของบทสรุปและวิธีวิทยาที่สังเคราะห์ข้อมูล

เมื่อเห็นถึงกระบวนการทำงานของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากจึงยิ่งรับไม่ได้ เมื่อตั้งคำถามขึ้นในที่ประชุมต่อสนข.แต่ไม่ได้คำตอบเป็นที่กระจ่างจึงได้ตัดสินใจ

เป็นการตัดสินใจเพื่อแสดงจุดมุ่นในทางความคิดว่าไม่เห็นด้วยกับ “รายงาน” ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทำงาน

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงมิได้คัดค้านต่อ “แลนด์บริดจ์”

การจัดดีเบตของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยิ่งทำให้ความข้องใจในทางสังคมขยายและกระจายในวงกว้าง เป็นความข้องใจต่อรายงาน เป็นความข้องใจต่อบทสรุปของคณะกรรมาธิการ

เท่ากับยืนยันถึงคุณภาพของ “รายงาน” เท่ากับยืนยันถึงคุณภาพในการทำงานของ “คณะกรรมาธิการ”

หากประเมินว่าเป็นการช่วยเหลือในลักษณะหนุนเสริมและสร้างความชอบธรรมให้กับการผลักดัน “แลนด์บริดจ์” และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ก็อาจมิได้เป็นพลังเท่าใดนัก

ในเมื่อแม้แต่นิยามแห่ง “สินค้าเทกอง” กรรมาธิการยังไม่มีความเข้าใจตามความเป็นจริงเสียแล้ว สังคมจะหวังได้อย่างไรว่า บทสรุปที่ดำรงอยู่ใน “รายงาน” มีคุณภาพหรือไม่เพียงใด

หากถือว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งโครงการ “แลนด์บริดจ์” การเริ่มต้นในท่วงทำนองและกระบวนท่าเช่นนี้น่าเป็นห่วง

น่าเป็นห่วงต่อ “แลนด์บริดจ์” น่าเป็นห่วงต่อ “รัฐบาล”

สถานะของพรรคเพื่อไทยคือสถานะแห่งพรรคการเมืองที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

ไม่มีใครปฏิเสธความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย

แต่สภาพการณ์ของพรรคไทยรักไทยในห้วงแห่งต้นและปลายทศวรรษที่ 2540 กับสภาพการณ์ของพรรคเพื่อไทยในเดือนมกราคม 2567 มีความแตกต่าง

ความแตกต่างหนึ่งก็เห็นได้จากสถานการณ์ “แลนด์บริดจ์”