หนึ่งในข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล
ระบุว่า การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 กับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน
จึงเสนอสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ควรดำเนินการตรวจสอบว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองว่า ไม่ว่าจะหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้ก็ได้
ข้อเสนอแนะดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า ป.ป.ช.อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างนโยบายพรรคการเมือง กับนโยบายรัฐบาล แตกต่างกันอย่างไร
ข้อเท็จจริงรัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจำเป็นต้องผสมผสานนโยบายของแต่ละพรรคร่วมให้ออกมาเป็นเนื้อเดียว ในนามนโยบายรัฐบาล ใช้ในการบริหารขับเคลื่อนประเทศ
การยึดเอานโยบายพรรคแกนนำ หรือพรรคใดพรรคหนึ่งทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม พรรคแกนนำรัฐบาลก็ไม่ได้ละทิ้งหลักการสำคัญในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศครั้งใหญ่ เพียงแต่วิธีการอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และเสียงทักท้วงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ และที่สำคัญคือฟังเสียงของประชาชน
มิได้ดันทุรังยึดเอานโยบายพรรคของตนเองเป็นหลักอย่างเดียว
จากข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. และอีกหลายข้อที่หลายคนมองว่าทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตรวจสอบป้องกันการทุจริต เป็นสัญญาณเตือนรัฐบาลต้องระมัดระวังในการเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
เนื่องจากกรรมการองค์กรอิสระส่วนใหญ่มีที่มาโยงใยกับรัฐบาลชุดก่อนที่เป็นการเมืองอนุรักษนิยม การกระทำหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีอคติทางการเมืองแฝงอยู่ ไม่ใช่เหตุผลทางวิชาการ หรือยึดตัวบทกฎหมายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
เป็นข้อเสนอแนะต้องรับฟัง แต่การตัดสินใจสุดท้ายขึ้นอยู่กับรัฐบาล บนหลักการสำคัญของโครงการคือ ต้องนำเงิน 10,000 บาทส่งถึงมือประชาชนอย่างโปร่งใส ภายใต้กรอบกฎหมาย และต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกระดับโดยเด็ดขาด
ขอบคุณข่าวจาก Khaosod Online
khaosod.co.th