“ดร.อานนท์” ยกข้อกม. เตือนเจรจาแบ่งผลประโยชน์เกาะกูด ต้องผ่านรัฐสภาเห็นชอบ
“ดร.อานนท์” ยกข้อกม. เตือนเจรจาแบ่งผลประโยชน์เกาะกูด ต้องผ่านรัฐสภาเห็นชอบ
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้ใช้เฟซบุ๊ก “Arnond Sakworawich” แชร์โพสต์ของนายคำนูณ สิทธิสมาน สว. ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับปมเกาะกูด ยืนยันว่าเป็นของไทย และตั้งคำถามถึงการที่รัฐบาลเศรษฐาเจรจาแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลกับฝ่ายกัมพูชา ที่ระบุไว้ว่า
พี่น้องสองแผ่นดิน สมเด็จฯฮุนเซนมาเยี่ยมพี่ชายที่คบกันมา 32 ปีนับแต่ยุค IBC Cambodia เมื่อวานซืนนี้ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้ามีข้อดีอยู่อย่างตรงที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจแผนที่อ่าวไทยลักษณะประมาณนี้อีกครั้ง แล้วเกิดการถามไถ่วิพากษ์วิจารณ์กันตามสมควร
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเกาะกูด !
กัมพูชามาลากเส้นเขตแดนทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ผ่ากลางเกาะกูดของไทยมาตั้งแต่ปี 2515 (ค.ศ. 1972) และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
คำถามคือเกิดขึ้นได้อย่างไร จะมีผลกระทบต่อสิทธิอธิปไตยของไทยแค่ไหน และเกี่ยวข้องกับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลี่ยม (หรือที่นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเรียกใหม่ว่าไฮโดรคาร์บอน) มูลค่า 20 ล้านล้านบาทอย่างไร
.
เพราะเกาะกูดเป็นของไทยอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้งโดยสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ข้อ 2
.
เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กัมพูชาสมัยนายพลลอนนอล
.
จู่ ๆ ก็ประกาศกฤษฎีกากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกผ่ากลางเกาะกูดตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยที่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา
.
พูดตรง ๆ เป็น “เส้นฮุบปิโตรเลี่ยม“ โดยแท้ !
.
ภูมิหลังของเรื่องคือไทยกับกัมพูชามีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงที่สองประเทศเริ่มดำเนินการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทยมาหมาด ๆ ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในยุคสมเด็จนโรดม สีหนุ ก็พอดีเกิดการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงใหญ่ในกัมพูชา นายพลลอนนอลขึ้นมามีอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดีได้ 2 ปีก็ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปทันที
.
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร บุคคลในประวัติศาสตร์ของไทยท่านหนึ่งทั้งเขียนและแล่าไว้อย่างเปิดเผยยต่อสาธารณะ
.
พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มายาวนาน เขียนบทความเรื่อง “การเจรจาปัญหาการอ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” เผยแพร่ในเว็บไซต์โครงการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล และนำความทำนองเดียวกันมาเล่าด้วยวาจาในเวทีสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดที่สยามสมาคมเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ว่า จอมพลประภาส จารุเสถียรเคยเล่าให้ท่านฟังว่านายพลลอนนอลผู้นำกัมพูชาขณะนั้นบอกท่านว่าเส้นเขตไหล่ทวีปนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนตะวันตกที่ขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเสนอขึ้นมาให้ โดยตัวนายพลลอนนอลและกัมพูชาไม่มีความมุ่งประสงค์ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อเกาะกูดของไทย พร้อมที่จะแก้ไข แต่ขอให้ไทยเห็นใจหน่อยว่าการเมืองภายในกัมพูชามีความเปราะบาง หากรัฐบาลทำการใดทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจพังได้ ก็เลยไม่มีการแก้ไขใด ๆ ที่ตอบสนองฝ่ายไทยได้
.
เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศออกมาสร้างความตะลึงและไม่สบายใจให้กับรัฐบาลไทยและคนไทยในช่วงนั้นมาก
.
เพราะเป็นห่วงเกาะกูด !
.
ทำอย่างไรจะให้กัมพูชายกเลิกเส้นเขตไหล่ทวีปนี้ให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย
.
คุณูปการของจอมพลประภาส จารุเสถียรคือท่านลงมากำกับการเจรจาเอง และคุยตรงไปตรงมากับนายพลลอนนอล เพราะเป็นทหารด้วยกัน เดินตามยุทธศาสตร์อเมริกันเหมือนกัน ที่สุดเมื่อคุยไม่เป็นผล ท่านก็รักษาสิทธิของไทยโดยการออกประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเส้นไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 90 ตอน 60 หน้า 1-2 วันที่ 1 มิถุนายน 2516
.
เป็นเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ลงทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา
.
นอกจากประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปแล้ว รัฐบาลไทยสมัยนั้นสั่งการให้กองทัพเรือเข้าดูแลรักษาสิทธิในน่านน้ำอ่าวไทยเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศทันที
.
นั่นเป็นเหตุการณ์แค่เพียง 5 เดือนก่อนจอมพลประภาส จารุเสถียรพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
.
การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่คืบหน้า
.
เพราะกัมพูชาตกอยู่ในสภาวะสงครามหลายรูปแบบอยู่ยาวนานจึงค่อยฟื้นคืนสู่สันติภาพ
.
กว่าจะมาเริ่มเจรจากันจริงจังอีกครั้งก็ปี 2538
.
ไม่คืบเช่นเคย !
.
กัมพูชาไม่พยายามจะพูดเรื่องเส้นเขตไหล่ทวีป หรือเรื่องแบ่งเขตแดนทางทะเล จะพูดแต่เฉพาะเรื่องการแบ่งปันปิโตรเลี่ยมใต้ทะเลเท่านั้น ขณะที่ไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศพยายามพูดทั้ง 2 เรื่อง
.
ในที่สุด MOU 2544 ก็ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544
.
ลงนามในยุคที่พี่น้อง 2 แผ่นดินต่างขึ้นครองอำนาจทางการเมืองในแผ่นดินของตน
.
เกิดเป็นกรอบแนวทางการเจรจาตามภาพกราฟฟิคที่นำมาแสดง
.
ดูเหมือนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลี่ยมจะคืบหน้าไปมาก จนมีตัวแบบและตัวเลขแบ่งผลประโยชน์ออกมา ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนแม้จะถูกจำกัดตามกรอบ MOU 2544 ให้ทำเฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเท่านั้นก็ยังคงไม่คืบหน้าเข่นเดิม
,
หลังผู้พี่ตกจากบัลลังก์อำนาจฝั่งไทยเมื่อปี 2549 การเจรจาสะดุดไป เพราะมีปัญหาเขตแดนทางบกบริเวณปราสาทพระวิหารเข้ามาแทรกเสียร่วม 10 ปี
.
วันนี้เมื่อผู้พี่กลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าอีกครั้ง และหัวหน้าคณะรัฐบาลที่มีพรรคของลูกสาวเป็นแกนนำประกาศนโยบายพลังงานว่าจะพยายามนำปิโตรเลี่ยมขึ้นมาใช้ให้ “เร็วที่สุด” โดยบอกว่าจะ “แยก” จากเรื่องเขตแดน แม้ผู้น้องจะเพียงมาเยี่ยมไข้ผู้พี่และถือโอกาสเชิญหลานสาวคนเล็กไปเยือนกัมพูชาเดือนหน้า ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองใด ๆ ก็ตาม
.
แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปรากฎการณ์พบกันของพี่น้องสองแผ่นดินคู่นี้จะต้องเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งอยู่ดี
.
เส้นฮุบปิโตรเลี่ยมจะยังอยู่หรือไม่ ?
.
สองประเทศจะแบ่งผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาทกันได้สำเร็จหรือไม่ตลอดอายุรัฐบาลไทยชุดนี้ และจะมีผลกระทบต่อเขตแดนทางทะเลในอนาคตของไทยหรือไม่อย่างไร ??
.
ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
โดย ผศ.ดร.อานนท์ ได้โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อกฏหมายว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 178 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด หรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็น อันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรี จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ผศ.ดร.อานนท์ โพสต์เพิ่มเติมอีกว่า มาตรา 119 อาญา “ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”
มาตรา 157 อาญา “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ขอบคุณข่าวจาก topnewsonline
topnews.co.th