- จับสัญญาณพรรคร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย” แม้จะอยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 แต่เวลานี้อาจไม่ได้ถือแต้มต่อในขั้วรัฐบาล
- “กระทรวงแรงงาน” เมื่อพรรครอง ไม่สนองนโยบายพรรคหลัก อย่างที่เคยคุยกันมา และที่ผ่านมายังปรากฎภาพความขัดแย้ง ระดับคีย์แมนเดินกันคนละทิศละทาง “ค่าแรง400 บาท” ติดหล่ม!
- “บิ๊กรัฐบาล” คิดข้ามชอตไปถึง “ฉากทัศน์สีน้ำเงิน” ที่เลวร้ายที่สุด อาจวางหมาก ยึดคืน “กระทรวงมหาดไทย”
สัญญาณปรับครม.ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน จับสัญญาณพรรคร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย” แม้จะอยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 แต่เวลานี้อาจไม่ได้ถือแต้มต่อในขั้วรัฐบาล เหมือนยุคเป็นเสาค้ำยันรัฐบาลที่ผ่านมา
เมื่อผลพวงจากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีต รมว.คมนาคม และอดีตเลขาธิการพรรค ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จากคดีซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทำให้คีย์แมนคนสำคัญ ต้องถอยฉากจากการเมืองเบื้องหน้า
ผลกระทบต่อเนื่องของคดีนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ภูมิใจไทย ยืนอยู่บนปากเหวในคดียุบพรรค ตามบทบัญญัติ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 72 เท่านั้น แต่ยังส่งผลถึง “อำนาจต่อรอง” ในขั้วรัฐบาล โดยเฉพาะสัญญาณปรับ ครม.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างแน่นอน
แม้ “บิ๊กเนมสีน้ำเงิน” จะประเมินว่า “คดียุบพรรค” ยังอีกยาวไกล เผลอๆ อาจล่วงเลยไปเป็นปี ทว่า สัญญาณในภูมิใจไทยเวลานี้ ย่อมรู้ดีถึงซินาริโอที่อาจดำเนินไปสู่จุดเลวร้ายที่สุด นั่นคือ “ยุบพรรค” ซึ่งจะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองได้เลย ถ้ารอด ก็รอดยกพรรค แต่ถ้าไม่รอด ก็ลามทั้งพรรคเช่นกัน
โดยเฉพาะ “10 กรรมการบริหารพรรค” เวลานี้มี 2 คนเป็น สส.ไม่ว่าจะเป็น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เป็น หัวหน้าพรรค เป็น สส.บัญชีรายชื่อ และ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย เป็นรองหัวหน้าพรรค และสส.อุทัยธานี
และอีก2คนที่ไม่ได้เป็นสส.แต่เป็นรัฐมนตรี คือ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ในฐานะรองหะวหน้าพรรค และ ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรค
หากที่สุดภูมิใจไทยถูกยุบ ย่อมส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคติดโทษแบนยาวนานถึง 10 ปี นั่นหมายความว่า ภูมิใจไทยที่มี 71 เสียงก็จะหายไปอย่างน้อย 2 เสียงแน่นอน ยังไม่นับรวมบรรดา สส.ที่อาจแตกกระเซ็นไปยังพรรคต่างๆ
ว่ากันว่า สส.บางคนถึงขั้นเตรียมหาทางหนีที่ไล่ไว้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะโซนอีสาน หากซินาริโอเลวร้ายถึงขั้นยุบพรรคจริง เป้าหมายก็อาจจะมุ่งตรงไปที่พรรครวมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เหลือเพียงรอความชัดเจน รวมถึงเกลี่ยพื้นที่ทับซ้อนกับเจ้าถิ่นเดิม
ฉะนั้น เมื่อภูมิใจไทยถือไพ่รอง ก็ต้องจับตาไปที่ “โควตารัฐมนตรี” ทั้งในโควตาตระกูล “ชิดชอบ” ที่มี “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” พี่ชายเป็นตัวแทน รวมไปถึงโควตานายทุนแต่ละสาย ที่อาจเกิด“เกมต่อรอง” สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งหลังจากนี้
โดยเฉพาะบางกระทรวง ที่มีความเกี่ยวโยงกับนโยบายเรือธงของ “พรรคแกนนำ”
“กระทรวงแรงงาน” ซึ่งเวลานี้มี “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เป็นเสนาบดี เป็นเป้าหมายที่เพื่อไทยเล็งยึดคืน
เมื่อพรรครอง ไม่สนองนโยบายพรรคหลัก อย่างที่เคยคุยกันมา และที่ผ่านมายังปรากฎภาพความขัดแย้ง ระดับคีย์แมนเดินกันคนละทิศละทาง
ทั้งที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แห่งเพื่อไทย เคยประกาศกลางสภาฯ ในวันแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 12 พ.ย.2566 เรื่องค่าแรงขั้นต่ำต้องไปให้ถึง “เป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด”
แต่ปรากฎว่า ประเด็นค่าแรง นโยบายหาเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย กลับถูกแตะเบรกโดย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ”เจ้ากระทรวง ของภูมิใจไทย จนไม่สามารถไต่บันได ตามเพดานที่ “นายกฯเศรษฐา” ประกาศกร้าวกลางสภาฯ ในวันแถลงนโยบายได้
ยิ่งในยามที่พรรคแกนนำกำลังติดหล่มจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจนถึงเวลานี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ยิ่งทำให้ต้องหาโจทย์อื่นที่เหลืออยู่ เรียกคืนคะแนนนิยม โดยเฉพาะนโยบาย “ค่าแรง” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเรือธงของเพื่อไทย
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวเล็ดลอดออกมาตลอดว่า “บิ๊กรัฐบาล” คิดข้ามชอตไปถึง “ฉากทัศน์สีน้ำเงิน” ที่เลวร้ายที่สุด จึงวางหมาก ยึดคืน “กระทรวงมหาดไทย” ที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ“2รัฐมนตรีสีน้ำเงิน”ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคครอบครองเบ็ดเสร็จ
โฟกัสไปที่ตำแหน่ง “เบอร์1คลองหลอด” ที่อาจถูกเรียกกลับคืน
ยิ่งไปกว่านั้นสัญญาณปรับครม.ถูกจับตาว่า อาจไม่ได้จบแค่ที่การปรับทัพฝ่ายบริหารแต่เพียงเท่านั้น แต่อาจลามไปถึง ตำแหน่งสูงฝ่ายนิติบัญญัติทดแทนให้กับรัฐมนตรีบางคนที่ “หลุดวงโคจร” ในโผครม.เศรษฐา2
สถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้แม้ดูเหมือนคลื่นลมยังนิ่งสงบ แต่เบื้องลึกยังมีคลื่นใต้น้ำหลายลูกที่รอก่อตัวหลังจากนี้
ไม่ต่างจากบรรดาบิ๊กเนมสีต่างๆ พยายามไล่เช็กสัญญาณวันต่อวัน โดยเฉพาะค่ายสีน้ำเงิน ที่ลุ้นระทึกว่า หากสถานการณ์เลวร้ายไปถึงขั้นยุบพรรค แรงต่อรองที่เคยมี ย่อมเปลี่ยนไปทันที ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีพรรคอื่นรอเสียบ
ทางเลือกที่เหลือของภูมิใจไทยจึงมีแค่ ระหว่างยอมแลกโควตา ครม. หรือพ้นสถานะพรรคร่วมรัฐบาล
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com