- หลุดบ่วงคดีโรดโชว์ เวลานี้ “อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง” จะเหลือเพียงคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี
- จับตา “กฎหมายขังนอกคุก” ทางรอด-ทางลอด(ช่อง) อดีตนายกหญิง “คืนอิสรภาพ” ตามรอยพี่ชาย
- เกมเพื่อไทย “ขยับหมาก” รับฉาก นายหญิงกลับไทย? “เศรษฐา” นายกฯ
สัญญาณเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มเห็นเค้าลางที่ใกล้ความจริง หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.“ยกฟ้อง”ยิ่งลักษณ์ พร้อมพวก ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท พร้อมมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” อีกด้วย
ผลจากคำพิพากษาคดีดังกล่าว ถือเป็นคดีที่ 2 ในรอบ 3 เดือนที่ศาล“ยกฟ้อง” โดยก่อนหน้านี้มีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องอดีตนายกฯ ปมโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(เลขาฯสมช.)โดยมิชอบ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566
คดีดังกล่าว แม้ล่าสุด “ถวิล” ที่เวลานี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) จะทำจดหมายด่วนที่สุดถึงอัยการสูงสุด ลงวันที่ 23 ม.ค. 2567 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คดี ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดยื่นขออุทธรณ์ในคดีดังกล่าว
“คดีจำนำข้าว” เดิมพันกลับไทย
เท่ากับว่า จนถึงเวลานี้ “อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง” ผู้นี้ จะเหลือเพียงคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 5 ปี ไปเมื่อ 27ก.ย.2560
ซึ่งในส่วนของ“คดีอาญา” นั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะ “ไม่นับอายุความ” กรณีจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ เท่ากับว่ากระบวนการจะเริ่มนับหนึ่งก็ต่อเมื่อเจ้าตัวกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ฉะนั้น ท่ามกลางสัญญาณเดินทางกลับประเทศไทยตามรอย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีพี่ชายของ“ยิ่งลักษณ์” จึงต้องไปลุ้นในคดีดังกล่าว
เทียบเคียงกับคดี“ทักษิณ” ที่ต้องโทษ 3 คดีจำคุกราว 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 1 ก.ย.เหลือโทษจำคุก 1 ปีเศษ กระทั่งถูกเสนอพักโทษโดยกรมราชทัณฑ์ อ้างถึงเกณฑ์พักโทษตามระเบียบราชทัณฑ์ที่ระบุว่า “เป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับว่าอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า”
มีการประเมินว่า การกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” อาจใช้วิธียื่นถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ-ลดโทษคดีจำนำข้าว โดยหยิบยกเหตุผลเป็นเพียงความผิดในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ทุจริตเหมือนกรณีพี่ชาย
สอดรับกับท่าทีของ“เสนาบดีตราชั่ง” ทวี สอดส่อง ที่ระบุว่า หากยิ่งลักษณ์ จะเดินกลับมายังประเทศไทย และประสงค์ “ขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล” ก็สามารถยื่นเรื่องโดยตรงกับกระทรวงยุติธรรมได้
“กฎหมายขังนอกคุก” ทางรอด-ทางลอด(ช่อง)?
ทว่า กรณีของ“ยิ่งลักษณ์” แม้ที่สุดจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่ยังมีคดีความติดตัวในวันที่เดินทางกลับไทยไม่ว่าจะเป็นกี่ปีหรือกี่เดือน อดีตนายกฯอาจไม่เข้าเงื่อนไขในการขอ “พักโทษ”ดังเช่นพี่ชายที่เข้าเกณฑ์ “อายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ”
เว้นเสียแต่จะมี “ทางลอด(ช่อง)”โดยเฉพาะการใช้พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560, กฎกระทรวงยุติธรรม และระเบียบที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค. 2566 คือระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายขังนอกคุก” ก็อาจทำให้อดีตนายกหญิงผู้นี้ “คืนอิสรภาพ” ตามรอยพี่ชายเร็วกว่ากำหนด
อันที่จริงสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็สะท้อนออกมาเป็นระยะ ทั้งการ“ผนึกขั้วอำนาจ” โดดเดี่ยวก้าวไกล ในประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 หรือการกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีดังกล่าว
หรือเมื่อเร็วๆ นี้ คือในช่วงที่ “พรรคเพื่อไทย” ยื่นร่างกฎหมาย 2 ฉบับต่อสภา นั่นคือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ฉากหน้าบรรดา “คีย์แมนพรรคเพื่อไทย” พยายามอธิบายว่า เป็นการเปิดทางให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมได้
แต่หากอ่านชื่อกฎหมายดูแล้ว ย่อมถูกจับตาถึง “วาระแอบแฝง” ภายใต้คำถามที่ว่า จะเกี่ยวโยงกับบรรดาคดีความของ “นักเลือกตั้ง” หรือ “บิ๊กเนมการเมือง” ที่ค้างคาอยู่ในกระบวนการหรือไม่ อย่างไร
ทว่าเมื่อกฎหมายถูกบรรจุวาระพิจารณาของรัฐสภา ในเวลาต่อมากลับมีสัญญาณ “ใส่เกียร์ถอย” มาจากพรรคต้นเรื่อง ถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาฯ เมื่อวันที่15 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล ถูกแตะเบรกจาก “องค์กรอิสระ” ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
น่าสนใจว่า การส่งสัญญาณถอยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีการถอยแบบปัจจุบันทันด่วน ก่อนวันประชุมร่วมรัฐสภาเพียง 1-2 วัน อาจมาจากสัญญาณหลายทิศทาง
ปัจจัยแรก ว่ากันว่า มีสัญญาณจากผู้มีอำนาจฝั่ง“ขั้วอำนาจเก่า” ที่ไม่แฮปปี้กับการเสนอกฎหมายดังกล่าว ส่งสัญญาณไปยังพรรคเพื่อไทยใส่เกียร์ถอย ภายใต้เงื่อนไขบางประการ
ปัจจัยที่สอง แม้พรรคเพื่อไทยจะพยายามอธิบายว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าว เป็นไปเพื่อเปิดทางให้ผู้เสียหายใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่การเสนอกฎหมายในช่วงที่มีสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “นายหญิงผู้น้อง” กระแสย่อมพุ่งเป้าไปยังค่ายชินฯ แบบเต็มๆ ซ้ำร้ายอาจกระทบไปถึงข้อตกลง รวมถึง “เงื่อนไขบางประการ” ที่จะทำให้การกลับไทยของอดีตนายกฯ เป็นอันต้องสะดุดหยุดลง หากยังดันทุรังดันกฎหมายเข้าสภา
ฉะนั้นจึงต้องจับตาสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “อดีตนายกฯหญิง” เวลานี้นายใหญ่-นายหญิง อาจต้องไล่เช็กสัญญาณภายใต้เงื่อนไข-ข้อตกลงบางประการเพื่อความชัวร์
ท่ามกลางทุกสายตาที่กำลังจับจ้องอยู่ในเวลานี้ว่าท้ายที่สุด หาก “ยิ่งลักษณ์” เดินทางกลับไทยนายกรัฐมนตรีจะยังชื่อ“เศรษฐา ทวีสิน” อยู่หรือไม่?
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com