สกัดพรรค’จัดตั้ง-ฮัั้ว’ล็อก สว. กกต.จับตากลเกมระดับอำเภอ ได้ไม่เกิน 5 พันคนจาก 5.5 หมื่นคน ติดวงจรปิดถ่ายสดเลือก สว. สังเกตการณ์ เพื่อความโปร่งใส
- แม้การเลือก สว. ชุดใหม่ 200 คน มีกลไกค่อนข้างซับซ้อน คัดเลือกจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้สมัครเลือกกันเองใน 3 ระดับ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
- ทำให้มีผู้สนใจสมัคร สว. จำนวนมาก บางคนสมัครเพราะอยากเป็น สว. แต่หลายคนสมัครเพราะอยากเข้ามาเลือก สว.
- ส่งผลให้ กกต. ต้องวางมาตรการรองรับไม่ให้เกิดการ ฮั้ว กันเพื่อล็อกสเปก สว. โดยเฉพาะผู้สมัคร สว. ที่อาจจะมีคอนเนกชันกับ พรรคการเมือง
การเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.200 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อาจจะมี “ผู้สมัคร” จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากกติกากำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง สว. ตามสาขาวิชาชีพ ต้องเป็น “ผู้สมัคร”เท่านั้น ที่จะเลือกกันเอง
สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้สมัครจะไม่มีสิทธิเลือก จึงเป็นสาเหตุทำให้มีคนสนใจเข้ามาสมัครจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งตั้งใจจะมาเป็น สว. แต่ส่วนใหญ่สมัครเข้ามาเพื่อจะเลือก สว.
รูปแบบการเลือก สว.จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1.ระดับอำเภอ มี 928 อำเภอทั่วประเทศไทย มี 20 กลุ่มอาชีพ คนที่จะผ่านเข้ารอบต่อไปต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของกลุ่ม สูตรจะคำนวณได้ 20 กลุ่มอาชีพ x 3 ลำดับแรกของอำเภอ x 928 อำเภอ ทำให้ตัวแทนระดับอำเภอจะอยู่ที่ 55,680 คน
2.ระดับจังหวัด มี 77 จังหวัด มี 20 กลุ่มอาชีพ คัดจาก 55,680 คน คนที่จะผ่านเข้ารอบต่อไป ต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของกลุ่ม สูตรคำนวณได้ 20 กลุ่มอาชีพ x 2 ลำดับแรกของอำเภอ x 77 จังหวัด ทำให้ตัวแทนระดับจังหวัดจะอยู่ที่ 3,080 คน
3.ระดับประเทศ คัดจาก 3,080 คน คนที่จะได้เป็น สว. ต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนลำดับ 1-10 ของแต่ละกลุ่มอาชีพ สูตรคำนวณ 20 กลุ่มอาชีพ x 10 จะได้ 200 คน ส่วน สว. สำรองจะเป็นผู้ได้รับคะแนนลำดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพ โดยจะมีทั้งหมด 100 คน
“แสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยในรายการเนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก. เนชั่นทีวี 22 เกี่ยวกับขั้นตอนการเลือก สว. ที่ค่อนข้างซับซ้อน พร้อมทั้งวิธีรับมือกลเกม “พรรคการเมือง” ที่อาจจะส่งตัวแทนเข้ามาสมัคร สว.
“แสวง” ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการเลือก สว. เพราะเราเตรียมการทั้งเรื่องระเบียบ บุคลากร มาตลอด ส่วนจำนวนคนสมัคร คาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก เราดูจากการเลือกระดับอำเภอ จะมีคนถูกคัดให้เป็นตัวแทน 55,680 คน หมายความว่าจะมีคนสมัครอย่างน้อย 1 แสนคน
“ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบุว่า สว. ต้องยึดโยงกับปวงชนชาวไทย หากเลือกโดยตรง ก็ให้เลือกแบบ สส. แต่ลักษณะเฉพาะของประเทศไทย อยากได้ผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็น สว. ก็ได้ออกแบบการเลือกมาเป็น 3 ระดับ ประชาชนทั่วไปก็ไม่มีสิทธิเลือก หากจะมีสิทธิเลือกต้องไปสมัคร”
“เมื่อกฎหมายออกแบบมาเช่นนี้ ก็จะยึดโยงกับประชาชนก็ต่อเมื่อ คุณได้รับเลือกมา คุณก็ทำงานให้ประชาชน แต่วิธีการมันต่างจาก สส. การเลือกตั้งคือประชาชนไปออกเสียง แต่ครั้งนี้เขาใช้ว่า เลือก สว. ไม่มีเลือกตั้ง อย่าใช้คำว่าเลือกตั้ง เพราะกฎหมายใช้คำว่าเลือก” เลขาฯ กกต.ระบุ
สำหรับการตรวจคุณสมบัติผู้สมัคร สว. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีกว่า 1-2 แสนคน แต่ต้องใช้เวลาภายใน 5 วัน ตนคิดว่า หากเรามีระบบเทคโนโลยีที่ดีจะสามารถช่วยเราได้ และต้องตรวจคุณสมบัติให้จบในชั้นแรกเลย ซึ่งต้องเสร็จทั้งหมดในระดับอำเภอ
“แสวง” ยอมรับว่า ทุกคนที่สมัคร สว. ก็ต้องการจะเป็น สว. แต่คุณไปเลือกคนอื่นเป็น สว.ได้ด้วย ไม่ใช่สมัครเพื่อเลือกคนอื่น เพราะคนที่สมัครเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ มีความเป็นกลางทางการเมือง เนื่องจากไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม ย่อมมีข้อกังขาว่า มีโอกาสที่จะมีกลุ่มคนที่ถูกล็อกให้เป็น สว.โดยมีการจัดตั้งกลุ่มคนเข้าไปโหวตเลือกหรือไม่ “แสวง” อธิบายว่า “กฎหมายไม่ให้จัดตั้ง การจัดตั้งผิดจากที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ จัดตั้งคือการบริหารจัดการ ส่วนการฮั้วคือการให้ประโยชน์กัน ตอนนี้มีคนเริ่มคิดแล้วว่า มันจะมีคนคิดแบบนี้ กกต.จึงให้ติดตามเรื่องแบบนี้อย่างใกล้ชิด เราจะไม่ให้เกิดแบบนี้ แต่เราต้องดูว่าเขาทำกันอย่างไร เราทราบโจทย์อยู่แล้ว แต่วิธีการรับมือเราต้องทำให้ได้”
“การเลือก สว.ตัวผู้สมัครต้องไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง มันผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการให้ประโยชน์ โดยเราจะตรวจสอบคนมาสมัครเป็นแสนคน หากใครจะคิดทำผิด มันต้องมีร่องรอย ผมคิดว่า ถ้าพรรคการเมืองคิดจะทำ ทำได้ไม่เกิน 5,000 คน เพราะด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน ถ้าทำแล้วต้องชนะ แต่ชนะมา 200 คน แล้วได้คนเดียว มันยาก และทำอย่างไรความก็แตก” แสวง ระบุ
ส่วนกรณีกระแสข่าวที่ว่า มีคนออกแบบส่งคนของตัวเองเข้าไปสมัคร 500 คน ซึ่งระบุอยู่แล้ว ว่าจะให้เลือกใคร เช่นเดียวกับระดับจังหวัด และระดับประเทศซึ่งต้องวัดกัน และอาจจะมีคนของตัวเองเข้าสู่ระดับประเทศ 3,000 คน เพื่อโหวตได้สบาย “แสวง” กล่าวว่า “เราก็คงไม่คิดเหมือนพรรคการเมือง แต่เรารู้ทันว่าเขาคิดอย่างไร จริงๆ จุดแตกหักอยู่ที่ระดับอำเภอ ไม่สามารถประเมินได้ว่า ใครจะส่งเท่าไร ถ้ามีคนคิดว่า จะมีคนจัดส่งอยู่ข้างหลัง ผิดแน่นอน คุณทำระดับอำเภอ เราก็รู้หมดว่าคุณทำอะไร เราคิดว่าเราน่าจะเอาอยู่ ไม่น่าจะรอดสายตา เราไม่อยากให้ได้ สว.จากการจัดตั้ง แบบนี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เวลานี้เริ่มมีกระบวนการอบรมผู้สมัคร คิดค่าสมัคร มารวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย “แสวง” ออกตัวว่า เราจับตามองทุกความเคลื่อนไหว เราเก็บรวบรวมทุกการกระทำ จริงๆ ท่านให้ความรู้ได้ แต่ถ้าหลังจากมีกฎหมายให้เลือก สว. หากมีการตั้งกลุ่มไลน์หาเสียงกัน มันผิด มาแนะนำตัวแบบฮั้วกัน มันผิด อย่าตั้งกลุ่มไลน์ ให้ได้ สว.ที่ไม่เป็นตามกฎหมายกำหนด ตอนนี้มีบางคนลงไปให้ความรู้ เมื่ออบรมเสร็จ ก็ตั้งกลุ่มไลน์ ตอนนี้ไม่เป็นไร แต่อย่าทำผิดกฎหมาย
ส่วนมาตรการป้องกันไม่ให้มีการฮั้วกันนั้น “แสวง” เปิดเผยว่า เราจะติดกล้องวงจรปิดให้ดูว่า บรรยากาศทั่วไปเป็นอย่างไร เราอยากให้เห็นว่าเราบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส โดยให้ประชาชนช่วยกันสอดส่อง ว่ามีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
“แสวง” ทิ้งท้ายว่า ระบบที่ออกแบบมา มองว่าป้องกันการฮั้วได้ดีแล้ว การบริหารจัดการ ตนไม่เป็นห่วง การเลือก สว.จำนวนคนหลักแสน ถือว่าไม่มาก แตกต่างจากเลือกตั้ง สส. เราต้องทำงานกับคน 50 ล้านคนที่มาเลือก
“ผมกังวลว่า จะไม่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้ามันเป็นจริง ตามที่เขาคิดไว้ มันอาจจะมีปัญหา ผมไม่รู้ว่า มันต้องแก้ไขหรือไม่ เราไม่มีความเห็นว่า สว. มาจากไหน แต่เรามีหน้าที่ดูแล เป้าหมายการเลือก สว.ครั้งนี้ มันจะมากกว่าที่เราเคยดูแล”
ทั้งหมดคือโจทย์ที่ “กกต.” ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเลือก สว. ท่ามกลางสถานการณ์ที่ฝั่งการเมืองเริ่มออกมาเคลื่อนไหว อีกฝั่งพยายามปลุกให้คนมาสมัครให้มาก เพื่อได้รับสิทธิเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม อีกฝั่งยังซุ่มปฏิบัติการลับวางกลวางเกม
เพราะการกุมอำนาจ “สภาสูง” ในทางการเมือง เชื่อว่าย่อมมีอำนาจคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งใน “องค์กรอิสระ” และมีส่วนร่วมในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญ
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com