กระแส ’ก้าวไกล’ จุดเปลี่ยนการเมือง ’บ้านใหญ่’ จับตาสนาม อบจ.โหนแบรนด์ส้ม ลดต้นทุน แกนนำส้มคิดหนัก ข้อดี vs ข้อเสีย

  • การเมือง “บ้านใหญ่” เดินมาถึงจุดวัดใจ เมื่อกระแสของ “ก้าวไกล” ยังแรงอย่างต่อเนื่อง สนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ปลายปีนี้ “บิ๊กบ้านใหญ่” จึงเปิดดีลพรรคส้ม
  • เพราะหากต้องสู้กับกระแส “กระสุน” ก็ยากจะเอาชนะได้ หากหวังจะชนะต้องใช้ทรัพยากรเดิมพันสูงลิบ
  • ด้าน “บิ๊กก้าวไกล” ยังคงต้องตัดสินใจให้รอบคอบ เพราะการเมือง “บ้านใหญ่” มีข้อดี ข้อเสีย

ก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ ที่กำลังเนื้อหอม ได้รับความนิยมจาก “นักเลือกตั้งท้องถิ่น” หวังใช้แบรนด์สีส้มชิงเก้าอี้นายก อบจ.-ส.อบจ.-นายกเทศมนตรีในเร็วๆนี้

“ชัยธวัช” เผยเบื้องต้นคัดสรรผู้สมัครเสร็จไปแล้ว 4 จังหวัด ลำพูน อุดรธานีภูเก็ต และตราด ส่วนจังหวัดอื่นกำลังอยู่ในช่วงคัดเลือกตัวแทนผู้สมัคร

ต้องยอมรับว่า เวลานี้ “ส้มเนื้อหอม” จึงหมายมั่นต่อยอดสนามเลือกตั้งนายก อบจ. – ส.อบจ. หวังสร้างปรากฎการณ์ “ส้มทั้งแผ่นดิน” นอกจาก “คนรุ่นใหม่” ที่ยื่นความจำนงสมัครชิงเก้าอี้ท้องถิ่นในนาม “ก้าวไกล” แล้ว ยังมีนักการเมืองสายพันธ์ุ “บ้านใหญ่”

เนื่องจากประเมินแล้วว่ากระแสสีส้มไม่มีลด โอกาสชนะการเลือกตั้งมีสูง ที่สำคัญใช้ “ทุนการเมือง” ไม่มาก แต่ผลตอบแทนค่อนข้างสูง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมดีล “บ้านใหญ่” ส่งตรงถึง “แกนนำก้าวไกล” ขอร่วมทีมสู้สนามเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงประเมินโอกาส 4 จังหวัด ที่แกนนำสีส้มวางตัวเอาไว้แล้ว

สนามโคราช “รัตนเศรษฐ”เปิดดีลขอซบส้ม

จ.นครราชสีมา ผลเลือกตั้งปี 2566 “ตระกูลรัตนเศรษฐ” แพ้เรียบวุธ ล้มเหลวที่สุด เท่าที่ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ลงเล่นการเมือง ทำให้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตามไล่เช็คบิล เพราะสนามโคราชทุ่มปัจจัยไปเยอะสุด

การชิง นายก อบจ. “วิรัช” เตรียมส่ง “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” อดีต รมช.คมนาคม ลูกชายหัวแก้หัวแหวน ลงสมัครในสีเสื้อก้าวไกล ภายหลังเปิดโต๊ะเจรจากับ ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ภรรยา “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ให้ยอมเปิดทาง แต่ไม่สำเร็จ

“ยลดา-วีรศักดิ์” นำทัพเพื่อไทยกวาด สส. โคราช เป็นกอบเป็นกำ การจะหลีกทางให้ตระกูล “รัตนเศรษฐ” ยากที่จะเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับ “ก้าวไกล” แม้จะมีดีลจาก “รัตนเศรษฐ” แต่กลับวางตัว “มารุต​ ชุ่มขุนทด”​ นักธุรกิจรุ่นใหม่เจ้าของสตาร์ทอัพร้านกาแฟ​คลาสคาเฟ่ ที่โคราชและอีกหลายแห่ง​ โดยเจ้าตัวเดินสายเปิดตัวไปกว่า 100 ตำบล จาก 200 กว่าตำบลในโคราช

“บูรณุปกรณ์”จับมือ“ก้าวไกล”

จ.เชียงใหม่ มีกระแสข่าว “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” อดีต สส. เชียงใหม่ ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ภายหลังแถลงข่าวพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566

เวลานั้นหลายคนคาดการณ์กันว่า “ทัศนีย์” อาจจะย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล แต่จนถึงวันนี้ยังไม่แสดงความชัดเจนว่า จะสังกัดพรรคใด

“ทัศนีย์” เติบโตในร่มเงาบ้านใหญ่ตระกูลบูรณุปกรณ์ ที่มี “ปกรณ์ บูรณุปกรณ์” และ “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” เป็นแม่ทัพธุรกิจการเมืองของตระกูล

ช่วงการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ปี 2563 “ทัศนีย์” วางตัวลำบากมาก เมื่อ “บุญเลิศ” ลงแข่งกับ “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” ตัวแทนเพื่อไทย ซึ่งผลการเลือกตั้ง “บุญเลิศ” พ่ายแพ้

การเลือก นายก อบจ. เที่ยวนี้ ตระกูลบูรณุปกรณ์ จับมือพรรคก้าวไกล อย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะส่งใครลงชิง ซึ่งมีโอกาสยึดได้ทั้ง อบจ.เชียงใหม่ และ เทศบาลนครเชียงใหม่

วางน้องชายสส.ชิงนายก อบจ.ตราด

จ.ตราด วางตัว “ชลธี นุ่มหนู” น้องชาย “ศักดิชัย นุ่มหนู” สส.ตราด พรรคส้ม ได้รับไฟเขียวลงสมัครท้ารบ “บ้านใหญ่ตราด” วิเชียร ทรัพย์เจริญ ประชาชนในพื้นที่จ้องกันตาเป็นมันระหว่าง “สิงห์หนุ่มสีส้ม” กับ “เสือเฒ่าสีแดง” ใครจะเข้าวิน

สมัยที่ “ชลธี” เป็น ผอ.สวพ.6 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากเกษตรกร และผู้ประกอบการทุเรียนในภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นคนเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิ์ จนได้ฉายา “มือปราบทุเรียนอ่อน”

ปลายปี 2565 จึงตัดสินใจลาออกจากข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ เพราะเจอคำสั่งโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (ผอ.กมพ.) แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อกลางเดือน ม.ค.2567 ได้เข้ารับตำแหน่งนายกสมา พันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก

ส่วนแชมป์ผูกขาดเมืองตราด “วิเชียร ทรัพย์เจริญ” นายก อบจ.ตราด 5 สมัย และหัวหน้ากลุ่มลูกเมืองตราด วัย 77 ปี

การเลือกตั้งนายก อบจ.ตราด ปลายปี 2563 “วิเชียร” และ “ศักดินัย” เป็นพันธมิตรกัน ทำให้ “วิเชียร” คว้าชัย ได้นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ตราด สมัยที่ 5 ไปตามความคาดหมาย มีคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งหลายเท่าตัว

ส่งรุ่นใหม่มากคอนเนกชันชิงนายกอุดรฯ

จ.อุดรธานี ทัพสีส้มเคาะชื่อ “คณิศร ขุริรัง” เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ในปี 2565 “คณิศร” ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า (Progressive Academy) ที่มูลนิธิคณะก้าวหน้าจัดขึ้น และได้รับการคัดเลือกเป็น 3 ดาวเด่นนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า รุ่นแรก

“คณิศร” ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ป้ายแดง แต่ผ่านสนามการเมืองท้องถิ่นมาโชกโชน เคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี สมาชิกสภา อบจ.อุดรฯ เขต อ.เมือง และรองนายก อบจ.อุดรธานี

ก่อนจะหันมาสวมเสื้อสีส้มเคยเป็นประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี ซึ่งวันนี้เขาได้ลาออกแล้ว เพื่อเตรียมตัวลงสมัครนายก อบจ.

โดยต้องสู้กับ วิเชียร ขาวขำ อดีต สส.อุดรฯ พรรคเพื่อไทย นายก อบจ.อุดรธานี ชนะการเลือกตั้งครั้งก่อน โกยแต้มได้สูงถึง 325,933 คะแนน ชนะ ฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ คณะก้าวหน้า ที่ได้ 185,801 คะแนน

ตรงกันข้ามกับผลการเลือกตั้ง สส.อุดรธานี 14 พ.ค.2566 เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์เป็นหนแรกในรอบ 20 ปี ได้ สส. 7 ที่นั่ง จากทั้งหมด 10 ที่นั่ง แบ่งให้พรรคไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกล 1 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตามต้องจับตาว่า ค่ายเพื่อไทยอุดรธานี จะมีการปรับแผนอะไรหรือไม่ เพราะมีข่าวบางกระแสระบุว่า “วิเชียร” อยากขยับขึ้นชั้นรัฐมนตรี

การเลือกตั้งนายก อบจ. และนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ในสมัยหน้า จะเป็นสงครามตัวแทนระหว่างเพื่อไทย กับก้าวไกล ต้องขีดเส้นใต้ไว้คือ “คณิศร” ว่าที่ผู้สมัครค่ายก้าวไกล

แกนนำคิดหนัก ข้อดีvsข้อเสีย

ปรากฎการณ์ “บ้านใหญ่” ขออาศัยกระแสพรรคส้ม บวกกับวิทยายุทธ์แบบเก่า ทำให้แกนนำสีส้มต้องคิดหนัก เพราะการเมืองทั้งสองรูปแบบมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป

“ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า พรรคก้าวไกลเติบโตมาด้วยแนวคิด นโยบาย แนวทางการทำงาน ทำให้เรามีกระแสตอบรับดี คนที่จะมาลงสมัครในนามพรรคทุกสนามเลือกตั้ง ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น และมีแนวทางที่ตรงกับพรรค

สำหรับสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกของแต่ละจังหวัด ตนยังไม่มีข้อมูลมากนักว่ามีใครผ่านการคัดเลือกบ้าง หรือจะมีคนของตระกูลบ้านใหญ่มาขอสมัครในนามพรรคบ้างหรือไม่

“เรามีคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง คงไม่ได้ปิดว่านามสกุลไหนรับ นามสกุล หลายคนเชื่อมั่นใจกระแสความนิยมของพรรค แต่เรายึดแนวทางการทำงานเป็นหลัก ทั้งสนาม สส. และ ท้องถิ่น ประชาชนเลือกก้าวไกลไม่ได้มองนามสกุล และเครือข่ายทางการเมือง”

“บ้านใหญ่”ขั้วตรงข้ามผนึกสู้กระแสส้ม

กระแสมาแรงของ “ก้าวไกล” จึงต้องจับตาการแก้เกมของ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” จะเลือกเดินเกมตรึงพื้นที่ท้องถิ่นเอาไว้อย่างไร เพราะทางเดียวที่จะพอสู้กับ “พรรคส้ม” คือบริหารคะแนนไม่ให้มีตัวหารมากเกินไป จังหวัดไหน ถิ่นใคร อาจจะมอบอภิสิทธิ์ให้รับผิดชอบ

เพราะหาก “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้กันเอง แต้มการเมืองจะโดนแบ่งออกไป ขณะที่คะแนนของของ “ก้าวไกล” จะสูงลิบอยู่พรรคเดียว เนื่องจากไม่มีพรรคอื่นมาแย่งชิงฐานแฟนคลับไปได้

การเลือกตั้ง นายก อบจ. – ส. อบจ. ในช่วงปลายปี 2567 หรืออาจเป็นช่วงต้นปี 2568 “การเมืองเก่า” จะต้องสู้กับ “การเมืองใหม่” ใครจะเข้าวินยึดเก้าอี้ท้องถิ่นได้มากกว่ากัน

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com