การพบกันของ “ทักษิณ-ฮุนเซน” อดีตผู้นำไทยและกัมพูชา แม้ปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกความเคลื่อนไหวย่อมมีผลต่อการเมืองสองประเทศแน่นอน
- “ทักษิณ” มีชื่อเข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ ที่จะประกาศวันที่ 18 ก.พ.คาดกันว่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 ก.พ.นี้
- “ฮุน เซน” ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา มีกำหนดเดินทางมาประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการในเดือน ก.พ.นี้
- ความคาดหวัง “ฮุนเซน” นอกจากได้เห็น “ทักษิณ” ปลอดภัยหลังกลับมารับโทษแล้ว ยังอยากเห็น“ฮุนมาเนต-แพทองธาร”ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ สองประเทศไปด้วยกัน
ก่อน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษ ได้พาน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทยอีกคน ร่วมเดินทางไปกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ของสมเด็จเตโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา วันที่ 5 ส.ค.2566
ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยสถานการณ์ในขณะนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้ง เป็นพรรคอันดับสอง เมื่อ 24 พ.ค.2566 กำลังรอจังหวะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล ซึ่งมีชื่อแคนดิเดตนายกฯ 3 คน ประกอบด้วย เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร ชัยเกษม นิติสิริ
“ฮุน เซน” สนับสนุน และคาดหวังเต็มที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่เอ็นดูและรักเหมือนลูกสาวอีกคนเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ถึงกับเอ่ยปากกับทักษิณในวันนั้นว่า “นายกฯ ต้องเป็นอุ๊งอิ๊งเท่านั้น”
เช่นเดียวกับที่ “ฮุน เซน” ประกาศวางมือส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้ลูกชายคนโตวัย 46 ปี “ฮุน มาเนต” หลังพรรคแคมโบเดียนพีเพิลส์ (Cambodian People’s Party : CPP) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบแลนด์สไลด์เมื่อ 23 ก.ค.2566
ดังนั้น ในวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ความปราถนาของ “ฮุนเซน” นอกจากได้เห็น “ทักษิณ” กลับไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว ยังอยากเห็น“ลูกชาย-ลูกสาว”ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ สองประเทศไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ไทย–กัมพูชา แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก
เมื่อคล้อยหลัง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เดินทางออกจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ฮุน มาเนต เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา วันที่ 7 ส.ค.2566
ส่วนประเทศไทยได้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็น นายกรัฐมนตรี เมื่อ 22 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ “ทักษิณ” เดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ควบคู่ไปกับการยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
และวันที่ 1 ก.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการป่วย ยอมรับการกระทำผิดและสำนึกในความผิด โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ตลอดเวลาที่ “ทักษิณ” เข้ารับการรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 หลังตรวจพบ มีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวัง คือ โรคหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีปัญหาปอด เนื่องจากมีประวัติเป็นปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ความดันโลหิตสูง ภาวะเสื่อมตามอายุ กระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ
ล่าสุด “ทักษิณ” มีชื่อเข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-เจ็บป่วยหลายโรค ของกรมราชทัณฑ์ ที่จะประกาศวันที่ 18 ก.พ.คาดกันว่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 ก.พ.นี้
สอดคล้องกับกระแสข่าว สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา มีกำหนดเดินทางมาประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อมาเยี่ยมเยียน“ทักษิณ” หลังได้รับการพักโทษ ตามที่เคยสัญญาไว้
ดังนั้นคงต้องจับตาการพบกันของอดีตผู้นำไทยและกัมพูชา แม้ปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกความเคลื่อนไหวย่อมมีผลต่อการเมืองสองประเทศแน่นอน
เมื่อ ฮุน มาเนต ลูกชาย ฮุน เซน ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตามเป้าหมายของผู้เป็นพ่อสำเร็จ คิวต่อไป อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ทายาทการเมืองของทักษิณ ย่อมรอแค่เวลาก้าวขึ้นสู่นายกฯไปด้วยกัน ในจังหวะที่เหมาะสม
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
bangkokbiznews.com